ขณะนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก โควิด 19 (COVID-19) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีผ่านมานี้ การที่มันระบาดขึ้นมา ทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงมากกับสังคมบนโลกใบนี้ ผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ รวมถึงเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ในบทความนี้เรามาเจาะลึกกันใน 19 คำถามว่าโรคนี้คืออะไร มีสายพันธุ์อะไรบ้าง และเราจะสามารถป้องกันมันได้อย่างไร มาติดตามกันได้เลย

สารบัญเนื้อหา

โควิด 19 (COVID-19) คืออะไร ?

          โควิด 19 (COVID-19) คือ ชื่อโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง ย่อมาจาก Corona Virus Disease of 2019 หรือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาในปี 2019 ซึ่งโรคนี้ถูกรายงานเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ช่วงเดือนธันวาคม 2019 และได้ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในปี 2020 ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุข รวมไปถึงเศรษฐกิจและสังคม

โควิด 19 คือ

เชื้อที่ทำให้ก่อโรคโควิด 19 คืออะไร ?

        เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 คือ SARS-CoV-2 เป็นเชื้อไวรัสที่มีรูปร่างคล้ายกับมงกุฎ (โคโรนา (Corona) แปลว่ามงกุฎ) และมีลำดับพันธุกรรมคล้ายกับเชื้อไวรัสก่อโรคซาร์ส (SARS-CoV)  โดยทั้ง SARS-CoV และ SARS-CoV-2 เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งคู่ และสามารถทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้เหมือนกัน

ไวรัส โควิด โคโรนา Covid Corona virus

ไวรัส SARS-CoV-2 เชื้อต้นเหตุของโรคโควิด 19 ที่มีรูปร่างเป็นเปลือกหนามคล้ายกับมงกุฎ

โควิด 19 มีอาการอะไรบ้าง ?

          ไม่มีอาการที่จำเพาะต่อโรคโควิด 19 อาการโดยทั่วไปลักษณะจะคล้ายกับไข้หวัด ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไอแห้งๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และรู้สึกมีไข้ นอกจากนี้อาจมีอาการได้กลิ่นหรือรับรสชาติได้ลดลง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดหรือเวียนศีรษะ ตาแดง ผื่นขึ้นตามร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายเหลวได้

          อาการของโควิด 19 ที่เป็นสัญญาณอันตรายว่าเป็นอาการที่รุนแรง ได้แก่ หายใจหอบเหนื่อย รู้สึกหายใจไม่อิ่ม มีไข้สูง รู้สึกเบื่ออาหารมาก จุกหรือเจ็บแน่นหน้าอก รวมไปถึงมีอาการซึมสับสน หมดสติ อาการพวกนี้ควรรีบพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด

อาการ โควิด 19

อาการของ โควิด 19

โรคโควิด 19 รุนแรงมากน้อยแค่ไหน ?

          ความรุนแรงของโรคนี้มีตั้งแต่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ มีอาการไม่รุนแรงลักษณะเหมือนไข้หวัด ไปจนถึงอาการรุนแรงมาก มีปอดติดเชื้อ มีภาวะหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และอาจทำให้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายล้มเหลว และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ เมื่อติดเชื้อโควิด 19 แล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และภาวะระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองมากกว่าความเป็นจริง หรือที่เรียกว่าพายุไซโตไคน์ (Cytokine storm) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น

          จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ผู้ป่วยโควิด 19 ประมาณ 80% เป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาต้านเชื้อไวรัสรักษา ผู้ป่วยประมาณ 15% เป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องได้รับยาต้านเชื้อไวรัส ส่วนผู้ป่วยอีกประมาณ 5% เป็นผู้ป่วยวิกฤต ที่อาจจำเป็นต้องได้ใช้เครื่องช่วยหายใจและต้องรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤต

         อัตราป่วยตาย (Case fatality rate) ของโรคโควิด 19 เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 2.1% หมายความว่า หากมีผู้ป่วยโควิด 19 100 คน จะมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ 2 คน ซึ่งในประเทศไทยอัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.79% (ข้อมูลจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564)

ผู้ป่วยโควิด 19 อาการ รุนแรง วิกฤต นอนโรงพยาบาล

มีผู้ป่วยประมาณ 15% เป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องนอนในโรงพยาบาล และอีก 5% เป็นผู้ป่วยวิกฤต

ระยะฟักตัวของโควิด 19 คือเท่าไร ?

          หากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนถึงมีอาการ ซึ่งเรียกว่าระยะฟักตัว (Incubation period) เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 วัน แต่สามารถยาวไปได้ถึง 14 วัน ซึ่งในระหว่างที่ได้รับเชื้อจนก่อนมีอาการ เป็นช่วงเวลาอันตราย เพราะอาจทำให้แพร่เชื้อแก่ผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจได้

โควิด 19 แพร่เชื้อได้อย่างไร ?

          การแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ 3 วิธีหลักๆ ได้แก่

  1. หายใจเอาละอองฝอยที่มีไวรัสเข้าไป โดยละอองฝอยพวกนี้เกิดจากการพูดคุย ไอ จาม แม้แต่การหายใจธรรมดาก็เกิดละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสออกมาได้ ซึ่งระยะห่างที่ละอองฝอยนี้จะลอยได้ไกลถึง 2 เมตร
  2. สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ หรือน้ำลาย กระเด็นเข้า ตา ปาก หรือจมูก ก็ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้
  3. ใช้มือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสแล้วป้ายโดนตา จมูกหรือปาก โดยเชื้อไวรัสสามารถเกาะและแพร่เชื้ออยู่บนสิ่งของได้นานถึง 3 วัน

          ซึ่งหากมีปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น ได้แก่

  1. อยู่ในพื้นที่ปิด และอากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้ละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้น
  2. มีการหายใจเอาเชื้อไวรัสออกมามากขึ้น เช่น มีผู้ที่ติดเชื้อออกกำลังกายที่ต้องหายใจแรง ตะโกน หรือร้องเพลงที่ต้องใช้เสียงดัง
  3. อยู่ใกล้กับคนที่ติดเชื้อหรือในพื้นที่ปิดที่มีเชื้อนานเกิน 15 นาที
  4. ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ อากาศหนาวเย็น จะทำให้เชื้ออยู่ได้นานมากขึ้น ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น
แพร่เชื้อ โควิด 19

การแพร่เชื้อโควิด 19

เราจะป้องกันโควิด 19 ได้อย่างไร ?

          จากวิธีการแพร่เชื้อในข้อข้างต้น ก็จะทำให้เราทราบว่าเชื้อแพร่กระจายอย่างไร และเราจะป้องกันโควิด 19 ได้อย่างไร

  1. สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่ออยู่นอกบ้านหรือพบผู้อื่น จะช่วยลดการกระจายละอองฝอยที่อาจมีเชื้อไวรัสปนออกมาได้
  2. เว้นระยะห่างจากผู้คน โดยควรเว้นไว้อย่างน้อย 1-2 เมตร
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ปิด หรือพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทกับผู้คนอื่นๆเป็นเวลานานๆ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นไปได้ควรใช้เวลาสั้นๆเมื่ออยู่ในพื้นที่นั้นๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเว้นระยะห่างเท่าที่เป็นไปได้
  4. ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงเอามือสัมผัสใบหน้า และทำความสะอาดสิ่งของที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต กระเป๋าสตางค์ รวมไปถึงควรทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ต้องใช้มือสัมผัสบ่อยๆด้วย
  5. ทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน อ่านเพิ่มเติม ภูมิคุ้มกัน สร้างได้เอง ด้วยวิธีง่าย ๆ ใกล้ตัวเรา นอกจากนี้ การรับประทานฟ้าทะลายโจรก็ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและลดโอกาสการเป็นไข้หวัดได้ด้วย อ่านเพิ่มเติมฟ้าทะลายโจรสมุนไพรไทย กับโควิด 19 (COVID-19)
  6. หากรู้สึกมีอาการเป็นหวัด ไม่สบาย ไม่ควรพบเจอผู้อื่น ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อ และรักษาได้อย่างทันท่วงที
ป้องกัน โควิด 19

วิธีป้องกันโควิด 19

บุคคลกลุ่มเสี่ยง เมื่อติดเชื้อโควิด 19 แล้วจะมีอาการรุนแรง คือใครบ้าง?

          เมื่อติดเชื้อโควิด 19 หากเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงมาก อาจหายเองได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านเชื้อไวรัส แต่ในคนที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัว มีโอกาสที่เชื้อนี้จะทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่

  1. ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคความดันในปอดสูง
  3. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องฟอกไตเป็นประจำ
  4. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก
  5. ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือผู้ที่มีประวัติหัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด
  6. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  7. ผู้ป่วยโรคอ้วน
  8. ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด
  9. ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน
  10. หญิงตั้งครรภ์
คนท้อง ตั้งครรภ์ กลุ่มเสี่ยง โควิด 19

หญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อโควิด 19 มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป

ทำอย่างไร ถ้าสงสัยว่าเป็นโควิด 19 ?

          ถ้าท่านมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือมีประวัติเสี่ยงสูง สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ควรติดต่อโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจหาเชื้อ ในระหว่างที่รอไปตรวจเชื้อนั้น ควรทำดังต่อไปนี้

1.ป้องกันไม่ให้ตัวเองแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น โดยการแยกตัวเองออกมา ไม่อยู่ใกล้กับผู้อื่นแม้เป็นคนในครอบครัว แยกภาชนะใส่อาหาร แยกกันรับประทานอาหาร แยกห้องน้ำหรือแบ่งเวลาสำหรับการเข้าห้องน้ำ ทำความสะอาดกับทุกที่ที่ได้สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ 70% ทำให้บ้านระบายอากาศปลอดโปร่ง หรือให้แสงแดดส่องเข้าถึงตัวบ้านได้บ้าง อ่านเพิ่มเติม คู่มือการกักตัวสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฉบับประชาชน 

 

2. สังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการหายใจหอบเหนื่อย รู้สึกหายใจไม่อิ่ม มีไข้สูง รู้สึกเบื่ออาหารมาก จุกหรือเจ็บแน่นหน้าอก รวมไปถึงมีอาการซึมสับสน หมดสติ ถือว่ามีอาการรุนแรง ให้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาตัวทันที

หน่วยงาน

เบอร์โทรศัพท์สายด่วน

การแพทย์ฉุกเฉิน

1669

การแพทย์ฉุกเฉิน เอราวัณ กทม.

1646

กรมการแพทย์ ประสานงานติดต่อหาเตียง

1668

กรมควบคุมโรค ติดต่อขอคำแนะนำ ความช่วยเหลือ เกี่ยวกับโรคโควิด 19

1422

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประสานหาเตียงผู้ติดเชื้อโควิด 19

1330

 

3. หากมีอาการไม่รุนแรง เช่น มีอาการไอแห้งๆ เจ็บคอ ไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะเล็กน้อย ได้กลิ่นหรือรับรสได้ลดลง สามารถดูแลตัวเองก่อนได้ โดยกินยาตามอาการ

อาการ

ยาที่รักษาตามอาการ*

ไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะเล็กน้อย

Paracetamol เช่น Tylenol, Sara ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้ง 1 เม็ด กินได้ทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมงเวลามีอาการ

ไอแห้งๆ เจ็บคอ

– ยาแก้ไอ เช่น Dextromethorphan หรือ Acetylcysteine ซึ่งสามารถซื้อได้ตามร้านขายยา

– ยาสมุนไพรจิบแก้ไอ มีหลากหลายยี่ห้อหาได้ตามร้านสะดวกซื้อ

น้ำมูก

– ยาแก้แพ้ เช่น Chlorpheniramine (CPM) 4 มิลลิกรัม ทานครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น แต่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอนมาก

– ยาแก้แพ้ตัวอื่นเช่น Cetirizine, Loratadine, Fexofenadine ก็ช่วยลดน้ำมูกได้บ้างแต่ประสิทธิภาพจะไม่ดีเท่า CPM

อ่อนเพลีย

ผงเกลือแร่ (ORS) สำหรับรักษาท้องเสีย ผสมน้ำแล้วค่อยๆจิบ จะพอช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้

เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน

ยาแก้อาเจียน Domperidone เช่น Motilium, Domp-M, ทานครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลาก่อนอาหาร 15-30 นาที

ถ่ายเหลว

ผงเกลือแร่ (ORS) สำหรับรักษาท้องเสีย ผสมน้ำแล้วค่อยๆจิบ ดื่มเพื่อทดแทนปริมาณถ่ายเหลวที่เสียไป

ผื่นขึ้นตามร่างกาย

– ยาทาสเตียรอย เช่น คาโนโลนโลชั่น (Kanolone lotion) ทาบริเวณผื่นคัน หากทาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นผื่นมากขึ้นควรหยุดทาและพบแพทย์

– ยาแก้แพ้ เช่น CPM, Cetirizine, Loratadine, Fexofenadine จะช่วยลดอาการคันได้

– ยาทาลดอาการคัน เช่น คาลาไมน์ โลชั่น (Calamine lotion)

*ขนาดยาสำหรับคนที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ถ้าเป็นเด็กควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

 

4. สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโควิด 19 ที่มีอาการไม่รุนแรง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ ฟ้าทะลายโจร สุดยอดสมุนไพรไทย ที่สามารถใช้รักษาโควิด 19 ได้

 

5. การใช้อุปกรณ์ช่วยสังเกตอาการ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มีประโยชน์มากเพื่อใช้ประเมินอาการ โดยสัญญาณเตือนที่ควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่ อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 39 องศาตลอดเวลา ความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 94%

 

6. ทำร่างกายให้แข็งแรง โดยยังต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หรือดื่มในปริมาณที่จำกัดต่อวันหากท่านมีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจหรือโรคไต ขยับร่างกาย ออกกำลังกายเบาๆ บ้าง เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

 

7. หากท่านมีโรคประจำตัว ไม่ควรหยุดยาโรคประจำตัว

 

8. หากมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ แต่ยังไม่สามารถไปที่โรงพยาบาลได้ การนอนคว่ำ (Prone position) จะช่วยทำให้ออกซิเจนในร่างกายเพิ่มได้

ผู้ป่วยโควิด 19 ท่านอน

วิธีการนอนคว่ำ ให้เปลี่ยนท่าทางทุก 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง โดยเป็นการนอนตะแคงข้าง สลับกับนอนคว่ำให้หัวเตียงสูงขึ้นเล็กน้อยหรือใช้หมอนรองบริเวณหน้า จะช่วยทำให้ออกซิเจนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น

Youtube : UConn Health

เราตรวจเชื้อโควิด 19 ได้อย่างไร ?

          การตรวจเชื้อโควิด 19 ทำได้ 3 วิธี

วิธี RT-PCR

คือการตรวจหาระดับพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 โดยวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐาน ตรวจพบเชื้อได้แม้มีปริมาณเชื้อเพียงเล็กน้อย วิธีการตรวจทำได้โดยใช้ไม้ที่ลักษณะคล้ายไม้พันสำลี แยงไปที่หลังจมูกและลำคอ แล้วนำไปส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ผลที่ได้น่าเชื่อถือมากที่สุดในบรรดาวิธีทั้งหมด แต่มีราคาแพง และใช้เวลานาน ประมาณ 12-24 ชั่วโมงถึงจะได้ผล

วิธี Rapid antigen test

คือตรวจหาโปรตีนของไวรัส SARS-CoV-2 ข้อดีของวิธีนี้คือได้ผลรวดเร็ว ราคาไม่แพง ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ มีเพียงชุดตรวจก็สามารถทำได้เลย แต่ข้อเสียคือ ความแม่นยำไม่สูงมาก วิธีการตรวจทำได้โดยใช้ไม้แยงจมูกและลำคอเหมือนวิธี RT-PCR ผสมลงในน้ำยา และหยดน้ำยานั้นลงในชุดตรวจ รอผลประมาณ 15-30 นาที หากได้ผลเป็นบวกต้องมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกที แต่ถ้าผลเป็นลบ ก็จะค่อนข้างมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าไม่มีเชื้อในร่างกาย อย่างไรก็ตามหากท่านมีประวัติเสี่ยงที่คิดว่าจะติดเชื้อโควิด 19 อาจจำเป็นต้องตรวจซ้ำใน 5-7 วัน เพื่อเพิ่มความแม่นยำของการตรวจ ดังนั้นการใช้วิธี Rapid antigen test จะช่วยคัดกรองผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อได้แม้จะไม่มีอาการก็ตาม

วิธี Rapid antibody test

คือการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งทำได้โดยนำเลือดจากปลายนิ้ว มาหยดลงในชุดตรวจ หากผลบวกก็แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อมาก่อน แต่ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนก็สามารถทำให้ผลบวกได้เช่นเดียวกัน การตรวจนี้ข้อดีจะเหมือนกับการตรวจ Rapid antigen test คือได้ผลเร็ว ราคาไม่แพง แต่ข้อเสียดังที่กล่าวไปคือไม่สามารถแยกได้ว่าภูมิคุ้มกันมาจากการติดเชื้อหรือจากวัคซีน และนอกจากนี้ หากในช่วงการติดเชื้อแรกๆ ภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้น ก็อาจทำให้ผลลบได้แม้ร่างกายจะติดเชื้อก็ตาม จึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้คัดกรองการติดเชื้อ

rapid antigen test ชุดตรวจ

ชุดตรวจ Rapid antigen test เพื่อหาโปรตีนไวรัสโควิด 19 เป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว

หากติดเชื้อแล้ว ควรทำอย่างไร ? และ Home isolation ทำอย่างไร ?

          เมื่อท่านทราบผลว่าติดเชื้อจริง ระหว่างที่รอเข้ารับการรักษา ควรปฏิบัติตัวเหมือนกับ ข้อ 9 ที่ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว

          ในการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เจาะเลือด และ X-ray ปอดเบื้องต้นเพื่อประเมินอาการ

  • อาการวิกฤต เช่น ปอดติดเชื้อรุนแรง หายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ มีอวัยวะภายในล้มเหลว ต้องนอนในหอผู้ป่วยวิกฤต เพื่อดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีโอกาสเสียชีวิตสูง เรียกว่าผู้ป่วยสีแดง
  • อาการรุนแรง เช่น มีหายใจหอบเหนื่อย มีค่าออกซิเจนต่ำ มีปอดติดเชื้อแล้ว ต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด ต้องได้ยาต้านเชื้อไวรัส และต้องได้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ หรือผู้ป่วยที่อาการยังไม่รุนแรงแต่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ เรียกว่าผู้ป่วยสีเหลือง
  • อาการไม่รุนแรง ไม่มีความเสี่ยง จะได้รับการรักษาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องได้ยาต้านเชื้อไวรัส สามารถรักษาตัวอยู่ที่ Hospitel หรือรักษาตัวที่บ้านได้ (Home isolation) เรียกว่าผู้ป่วยสีเขียว
การกักตัวที่บ้าน

วิธีการรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) จาก กรมการแพทย์

Youtube : กรมการแพทย์ Department of medical services

ยาที่ใช้รักษาโควิด 19 คืออะไร ?

          ขณะนี้ยังไม่มียารักษาโควิด 19 ที่จำเพาะเจาะจงต่อโรค แต่เป็นการใช้ยาที่มีอยู่เดิม นำมาใช้ตามกลไกการเกิดโรค โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้

  1. ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น Remdesivir, Favipiravir โดยมีกลไกยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส ทำให้ไวรัสมีจำนวนลดลงและถูกกำจัดไปในที่สุด
  2. ยาสเตียรอยด์ (Steroid) เช่น Dexamethasone เป็นยาลดการอักเสบ เนื่องจากผู้ป่วยโควิด 19 บางคน อาจมีภาวะภูมิคุ้มกันตอบสนองมากกว่าผิดปกติ จนเกิดภาวะที่เรียกว่าพายุไซโตไคน์ (Cytokine storm) ซึ่งเป็นการอักเสบทั่วร่างกาย ดังนั้นการให้ยาสเตียรอยด์ จะช่วยลดการอักเสบนี้ได้
  3. ยาต้านการอักเสบแบบจำเพาะ เช่น Baricitinib, Tocilizumab มีฤทธิ์ลดการอักเสบเช่นเดียวกับยาสเตียรอยด์ แต่มีราคาสูง และใช้ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงและวิกฤตเท่านั้น
  4. ยาภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัส SARS-CoV-2 (Monoclonal antibody) คือ ยาที่มีภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อโปรตีนของไวรัส SARS-CoV-2 เพื่อไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ เป็นยาชนิดใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ใช้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ยังมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งตัวยาจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ ยาในกลุ่มนี้ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Bamlanivimab ใช้คู่กับ Etesevimab, Casirivimab ใช้คู่กับ imdevimab และตัวสุดท้ายคือ Sotrovimab

         นอกจากนี้ยังมีการใช้พลาสม่าที่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ได้มาจากการบริจาคเลือดของคนที่หายจากโควิด 19 อีกด้วย โดยสามารถใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้

Baricitinib Remdesivir ยารักษาโควิด ยาต้านไวรัส

Baricitinib Remdesivir ยารักษาโควิด

หากเด็กติดเชื้อโควิด 19 ควรทำอย่างไร ?

          จากข้อมูลถึงปัจจุบันนี้ พบว่าเด็กมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงของโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก แต่เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม จะมีโอกาสที่โรคมีความรุนแรงได้

          อาการของเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 คือ ไอแห้งๆ มีไข้ มีน้ำมูก คัดจมูก อาจมีถ่ายเหลว เบื่ออาหารได้เหมือนผู้ใหญ่

          การรักษา หากอยู่ที่บ้าน ให้ปฏิบัติตัวเหมือน ข้อ 9 ดังที่กล่าวไปแล้ว ควรเช็ดตัวลดไข้ในเด็กที่ตัวร้อนมาก การกินยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินยาทุกชนิด เนื่องจากขนาดยาจะไม่เท่ากับผู้ใหญ่

          ในการรักษาที่โรงพยาบาล หากเด็กที่ป่วยไม่มีอาการรุนแรง แพทย์จะให้สังเกตอาการและรักษาตามอาการที่มี แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่นมีปอดติดเชื้อร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส ลักษณะการรักษาจะคล้ายกับผู้ใหญ่ที่กล่าวไว้ในข้อ 11

          ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กติดเชื้อโควิด 14.2% มีอัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.03% ส่วนในประเทศไทย พบว่ามีเด็กติดเชื้อโควิด 7.8% และมีอัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.03% (ข้อมูลถึงเดือนมิถุนายน 2564)

เด็กป่วยโควิด

คนที่ได้รับการรักษาโควิด 19 จนหายแล้ว แพร่เชื้อได้อีกหรือไม่ และสามารถติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ ?

          หลังจากที่ผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับการรักษาจนหายแล้ว จะสามารถตรวจพบสารพันธุกรรม SARS-CoV-2 ได้อีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจตรวจพบได้นานถึง 3 เดือน โดยการตรวจพบเชื้อนี้พบว่าเป็นซากเชื้อที่ตายแล้ว ไม่สามารถแพร่กระจายได้อีก ดังนั้น หากได้รับการรักษาจนหายแล้ว ไม่มีอาการและกักตัวจนครบ 14 วันแล้ว ผู้ป่วยคนนั้นจะไม่แพร่เชื้อได้อีก

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโควิด 19 ที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อซ้ำ เนื่องจากมีรายงานเคสที่ติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง แต่เนื่องจากข้อมูลมีจำกัด จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าระยะเวลาของภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อจะอยู่ได้นานเท่าไรภูมิคุ้มกันถึงลดลง ความเข้มข้นของภูมิคุ้มกันที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อต้องมีปริมาณเท่าไร และหากครั้งแรกติดเชื้อสายพันธุ์หนึ่ง ภูมิคุ้มกันที่มีจะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์อื่นๆได้หรือไม่ คำตอบทั้งหมดนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม มีรายงานเคสในประเทศแอฟริกาใต้ว่าภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำ ไม่สามารถกำจัดเชื้อของสายพันธุ์อื่นๆได้

รักษา โควิด หาย ติดเชื้อซ้ำ

ผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาหายแล้ว จะไม่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่นแล้ว แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นจึงต้องป้องกันโควิด 19 เหมือนเดิม

ผลข้างเคียงระยะยาวหลังจากการติดเชื้อโควิด 19 คืออะไร ?

          โดยทั่วไป ผู้ป่วยโควิด 19 หลังจากหายสนิทจะไม่มีอาการอะไร แต่จะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีอาการ เช่น อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดตามข้อ ไข้ ไอ เป็นต้น โดยอาการอาจเป็นได้นานมากกว่า 4 สัปดาห์หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 อาการเหล่านี้อาจจะค่อยๆ บรรเทาลงไปเองได้ในอนาคต

          แต่ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง หลังจากรักษาหายแล้ว อาจมีอวัยวะบางส่วนที่มีความเสียหายได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น

ผลกระทบต่อปอด

หากมีการติดเชื้อที่ปอด อาจทำให้เกิดพังผืดในปอดได้ ซึ่งอาจทำให้การหายใจมีปัญหาได้ในระยะยาว

ผลกระทบต่อหัวใจ

จากการศึกษาพบว่าหลังจากติดตามผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด 19 มีบางส่วนที่กล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ในอนาคต

ผลกระทบต่อสมอง

พบว่าการติดเชื้อโควิด 19 ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก รวมถึงโรคแขนขาอ่อนแรงชั่วคราว (Guillain-Barre syndrome) และโควิด 19 ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์อีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลผลกระทบในระยะยาวจึงยังไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

ผลระยะยาว โควิด ปอด พังผืด

การติดเชื้อที่ปอดอาจทำให้เกิดพังผืดในปอดและอาจมีผลระยะยาวในระบบหายใจได้

สายพันธุ์โควิด 19 มีอะไรบ้าง ?

          เนื่องจากเชื้อไวรัสมีส่วนประกอบแค่สารพันธุกรรมและโปรตีนที่ห่อหุ้มมัน เมื่อมีการแพร่กระจายเชื้อ และแบ่งตัว ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ขณะมีเชื้อโควิด 19 มีหลายสายพันธุ์มาก การกลายพันธุ์จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อง่ายขึ้น เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง อาจทำให้มีความรุนแรงในการก่อโรคสูงขึ้น และการฉีดวัคซีนจะป้องกันสายพันธุ์เหล่านี้ได้ลดลง โดยสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง คือ

สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) หรือ B.1.1.7

ตรวจพบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นและติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ตั้งต้น

สายพันธุ์เบต้า (Beta) หรือ B.1.351

ตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ สายพันธุ์นี้สามารถลดประสิทธิภาพของการใช้ยาเฉพาะที่ และลดประสิทธิภาพการใช้ภูมิคุ้มกันของคนที่ติดเชื้อแล้วมารักษาผู้ป่วยโควิด 19 นอกจากนี้ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในหลายประเทศทั่วโลก

สายพันธุ์แกมม่า (Gamma) หรือ P.1

ตรวจพบครั้งแรกในประเทศบราซิล สายพันธุ์นี้สามารถลดประสิทธิภาพของการใช้ยาเฉพาะที่ และลดประสิทธิภาพการใช้ภูมิคุ้มกันของคนที่ติดเชื้อแล้วมารักษาผู้ป่วยโควิด 19

สายพันธุ์เดลต้า (Delta) หรือ B.1.617.2

ตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย แพร่กระจายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และลดประสิทธิภาพของการใช้ยาเฉพาะที่ และลดประสิทธิภาพการใช้ภูมิคุ้มกันของคนที่ติดเชื้อแล้วมารักษาผู้ป่วยโควิด 19

          นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์อื่นที่ยังต้องจับตามอง ว่ามีโอกาสระบาดเป็นวงกว้างได้ ได้แก่ สายพันธุ์เอพซิลอน (Epsilon) หรือ B.1.427/B.1.429 ที่ว่ากันว่าสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ แต่ความสามารถการกระจายเชื้อได้ไม่ดี สายพันธุ์โรต้า (Iota) หรือ B.1.526 สายพันธุ์แคปป้า (Kappa) หรือ B.1.617.1 เป็นต้น

สายพันธุ์ โควิด 19 คือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า เอพซิลอน

วัคซีนโควิด 19 คืออะไร ?

          วัคซีนโควิด 19 คือสารที่ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งมีประโยชน์ที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการป่วยแบบมีอาการ ป้องกันไม่ให้ป่วยหนัก และป้องกันไม่ให้เสียชีวิตได้

          วัคซีนโควิด 19 ที่มีใช้อยู่ในขณะนี้มี 3 ประเภท คือ

วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated virus)

          คือการนำเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้อ่อนแรงลง แล้วนำไปฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนี้ โดยวิธีนี้เป็นเทคโนโลยีที่คุ้นเคย เพราะเป็นเทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนอื่นๆหลายชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า วัคซีนโปลิโอ เป็นต้น ยี่ห้อของวัคซีนประเภทนี้ได้แก่ CoronaVac (Sinovac) และ Sinopharm

วัคซีนโดยใช้ไวรัสอื่นเป็นพาหะ (Viral vector)

          คือวัคซีนที่ใช้ไวรัสไม่ก่อโรค มาบรรจุสารพันธุกรรมที่เรียกว่าสไปก์โปรตีนของไวรัส SARS-CoV-2 แล้วตัวไวรัสที่ไม่ก่อโรคจะพาสไปก์โปรตีนไปทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนี้ ยี่ห้อของวัคซีนประเภทนี้ได้แก่ Astrazeneca, Sputnik V และ Janssen (Johnson & Johnson) เป็นต้น

วัคซีนใช้สารพันธุกรรมเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (mRNA)

          คือวัคซีนที่มีสารพันธุกรรมที่จะเข้าไปในเซลล์ร่างกายมนุษย์ให้ผลิตโปรตีนซึ่งตัวโปรตีนนี้จะไปกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ยี่ห้อของวัคซีนประเภทนี้ได้แก่ Moderna, Comirnaty (Pfizer and BioNtech)

          นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีกประเภทที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา คือวัคซีนที่ใช้ส่วนประกอบของโปรตีน (Protein subunit) โดยการใช้โปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัสมาทำให้เกิดการกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกัน ยี่ห้อที่ใช้วัคซีนประเภทนี้ ได้แก่ Novavax

วัคซีนโควิด 19 คือ

ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด 19 คืออะไร?

          ผลข้างเคียงที่เจอได้บ่อยได้แก่ อาการปวดต้นแขนที่ฉีด มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยทั่วไป เป็นอาการที่ไม่รุนแรง สามารถหายได้เองใน 2-3 วัน สามารถรับประทานยาแก้ปวด Paracetamol เพื่อบรรเทาอาการได้

          แต่ผลข้างเคียงที่รุนแรงที่ต้องระวังคือ การแพ้แบบรุนแรง โดยจะมีอาการทางระบบผิวหนังเช่นผื่น หน้าบวม ปากบวม ร่วมกับมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ อาการหอบเหนื่อย รู้สึกจุกแน่น หายใจไม่ได้ ความดันโลหิตต่ำ อาการระบบทางเดินอาหารเช่นปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกัน ถือว่ามีอาการแพ้รุนแรงที่ต้องพบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยการแพ้ชนิดรุนแรงอาจจะเกิดได้ทันทีใน 5 ถึง 10 นาทีหลังฉีด หรือหลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง

          ผลข้างเคียงแบบรุนแรงของวัคซีนแต่ละตัว สามารถพบได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เช่น มีรายงานอาการแขนขาชาอ่อนแรงครึ่งซีกลักษณะคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมองหลังฉีดวัคซีน Sinovac หรือรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังจากฉีดวัคซีน Astrazeneca เป็นต้น ส่วนวัคซีน Moderna และ Comirnaty (Pfizer and BioNtech) ก็มีโอกาสทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงแบบรุนแรงดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากๆ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคย่อมมีประโยชน์กว่าการไม่ฉีดอย่างแน่นอน

การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะจบลงเมื่อไร ?

           ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนว่าการระบาดจะจบลงเมื่อไร แต่ก่อนจะไปถึงการหยุดการระบาดนั้น ต้องรู้จักคำว่า อัตราการแพร่เชื้อและ ภูมิคุ้มกันหมู่ กันก่อน

          อัตราการแพร่เชื้อ (Reproductive rate – R0 หรือ R zero หรือ R naught) คือ การที่คนที่ติดเชื้อ 1 คนจะแพร่ให้ผู้อื่นติดเชื้อเพิ่มขึ้นกี่คน ตัวอย่างเช่น หากค่า R0 คือ 5 หมายความว่า หากมีคนติดเชื้อ 1 คน จะแพร่ให้คนอื่นติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5 คน โดยแต่ละโรคจะมีค่า R0 เฉลี่ยต่างกัน ซึ่งโควิด 19 มีค่า R0 เฉลี่ย คือ 2-3 ดังนั้นหากค่า R0 มาก การแพร่ระบาดก็จะยังมีอยู่ และถ้าอยากให้การระบาดน้อยลง ต้องทำให้ R0 มีค่าน้อยกว่า 1 สามารถดูค่า R0 ได้ที่นี่

          ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) คือ สภาวะที่ประชากรมีภูมิคุ้มกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หยุดการแพร่กระจายเชื้อได้ โดยภูมิคุ้มกันอาจเกิดจากการติดเชื้อจนหายหรือเกิดจากการฉีดวัคซีนก็ได้ ถ้าถามว่าประชากรต้องมีภูมิคุ้มกันกี่คนถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ คำตอบคือต้องขึ้นกับตัวโรค ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับ R0 โดยมีการคำนวณมาแล้ว หาก R0 มีค่า 2-3 สัดส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันประมาณ 60%-70% ก็จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และการระบาดของโรคนี้ก็จะหมดไป

          อย่างไรก็ตามภูมิคุ้มกันที่ว่านี้ จะต้องเป็นภูมิคุ้มกันที่ป้องกันการติดเชื้อแบบ 100% ซึ่งขณะนี้ภูมิคุ้มกันต่อโควิด 19 นั้น ไม่ว่าจะมาจากการติดเชื้อจนหาย หรือจากการฉีดวัคซีนนั้น ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ทำให้การระบาดอาจจะยังไม่จบลงได้ง่ายๆ แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากร 60%-70% แล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้น การฉีดวัคซีนก็ยังจำเป็น และควรต้องฉีดให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรค และทำให้โรคระบาดนี้ กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปในที่สุด

เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันจนเกิด Herd immunity การระบาดก็จะจบลง และเราก็จะสามารถถอดหน้ากากอนามัย กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

บทความอ้างอิง

  1. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/index.html
  2. https://www.who.int/health-topics/coronavirus
  3. https://www.covid19treatmentguidelines.nih.gov/overview/overview-of-covid-19/
  4. https://www1.nyc.gov/site/doh/covid/covid-19-data-variants.page
  5. https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/
  6. Kampf G, Todt D, Pfaender S, Steinmann E. Persistence of coronaviruses on inanimate surfaces and their inactivation with biocidal agents. Journal of Hospital Infection. 2020 Mar 1;104(3):246–51.
  7. 7. Evidence summary for lateral flow devices (LFD) in relation to care homes [Internet]. GOV.UK. Available from: https://www.gov.uk/government/publications/evidence-on-the-accuracy-of-lateral-flow-device-testing/evidence-summary-for-lateral-flow-devices-lfd-in-relation-to-care-homes
  8. Antigen-detection in the diagnosis of SARS-CoV-2 infection using rapid immunoassays [Internet]. Available from: https://www.who.int/publications-detail-redirect/antigen-detection-in-the-diagnosis-of-sars-cov-2infection-using-rapid-immunoassays
  9. https://www.aad.org/public/diseases/coronavirus/covid-toes
  10. http://www.thaipediatrics.org/pages/Doctor/Detail/46
  11. https://services.aap.org/en/pages/2019-novel-coronavirus-covid-19-infections/children-and-covid-19-state-level-data-report/
  12. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronavirus/symptoms-causes/syc-20479963
  13. https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/people-at-higher-risk/
  14. https://www.path.org/articles/understanding-journey-herd-immunity/