ขณะนี้ในประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าเป็นหนึ่งในวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่หนึ่งในเรื่องที่ได้รับความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก คือผลข้างเคียงแอสตร้าเซนเนก้า และความปลอดภัย รวมถึงอาการแพ้ที่สามารถพบได้จากการฉีดวัคซีนโควิดชนิดนี้ ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมถึงวิธีการเตรียมตัวมาฝากกัน เป็นอย่างไรนั้น ลองติดตามกันได้เลย

สารบัญเนื้อหา

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คืออะไร

          วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) คือ วัคซีนที่มีส่วนประกอบของรหัสพันธุกรรมที่สำคัญของไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2 virus) ที่เรียกว่าสไปก์โปรตีน (Spike protein) นำไปใส่ในไวรัสที่ไม่ก่อโรคต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งไวรัสที่ไม่ก่อโรคนี้จะนำพาสไปก์โปรตีนเข้าสู่ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี หากฉีดเข็มแรก ผ่านไป 21 วันจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 61% และเมื่อได้รับครบ 2 เข็ม จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 80% (ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564) และเมื่อได้รับครบ 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิค-19 แบบมีอาการได้ 90 % นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100%

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า Astrazeneca COVID-19 vaccine

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงแอสตร้าเซนเนก้า

          ผลการศึกษาของวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าในประชากรมากกว่า 10,000 คน เรื่องความปลอดภัยของวัคซีนพบว่าผลข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นระดับไม่รุนแรงและหายเองได้ ส่วนอาการแพ้วัคซีนแบบรุนแรงพบได้น้อยมากๆ

          ผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรงที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบได้ใน 48 ชั่วโมงแรกหลังจากฉีดวัคซีน และอาการจะดีขึ้นเองใน 2-3 วัน อาการเหล่านี้ได้แก่

  1. กดเจ็บบริเวณที่ฉีด (มากกว่า 60%)
  2. ปวดแขนข้างที่ฉีด (มากกว่า 50%)
  3. ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย (มากกว่า 50%)
  4. ปวดเมื่อยตามร่างกาย (มากกว่า 40%)
  5. ไข้ หนาวสั่น (มากกว่า 30%)
  6. ปวดตามข้อ (มากกว่า 20%)
  7. คลื่นไส้ อาเจียน (มากกว่า 20%)

          นอกจากนี้ผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรงที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองโต เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ ปวดท้อง เหงื่อออกมากผิดปกติ คัน ผื่นขึ้นตามร่างกาย

ปวดแขน ผลข้างเคียง วัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า

อาการกดเจ็บบริเวณที่ฉีด และปวดแขนสามารถพบได้บ่อยหลังจากฉีดวัคซีน

          วัคซีน AstraZeneca สามารถทำให้เกิดการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ได้ โดยมีรายงาน พบได้ 5 คนใน 1,000,000 คน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่พบน้อยมากๆ การแพ้ชนิดรุนแรงเป็นการตอบสนองของร่างกายหลังจากที่ได้วัคซีน ยา หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจมีความรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการของการแพ้ชนิดรุนแรงได้แก่ อาการทางระบบผิวหนังเช่นผื่น หน้าบวม ปากบวม ร่วมกับมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ อาการหอบเหนื่อย รู้สึกจุกแน่น หายใจไม่ได้ ความดันโลหิตต่ำ อาการระบบทางเดินอาหารเช่นปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกัน ถือว่ามีอาการแพ้รุนแรงที่ต้องพบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยการแพ้ชนิดรุนแรงอาจจะเกิดได้ทันทีใน 5 ถึง 10 นาทีหลังฉีด หรือหลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง

หอบเหนื่อย จุกแน่น อาการแพ้รุนแรง

อาการหายใจหอบเหนื่อย จุกแน่น หายใจไม่ได้ หลังฉีดวัคซีน เป็นอาการหนึ่งของการแพ้ชนิดรุนแรง ควรรีบพบแพทย์

          ผลข้างเคียงแบบรุนแรงอีกอย่างหนึ่งของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีรายงาน คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome – TTS) ขณะนี้ยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่ชัดเจน เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ยากมาก พบได้ 1-2 คน ใน 100,000 คน (รายงานในประเทศออสเตรเลีย) อาการเริ่มมีได้ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง วันที่ 28 หลังฉีดวัคซีน โดยลิ่มเลือดอุดตันสามารถพบได้ตำแหน่งต่างๆทั่วร่างกาย ที่มีรายงานคือ พบในหลอดเลือดดำสมอง และหลอดเลือดดำในอวัยวะช่องท้อง แม้ว่าเป็นความเสี่ยงพบได้น้อยมาก แต่เป็นผลข้างเคียงที่อันตราย อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ โดยรายงานในสหราชอาณาจักรพบว่าอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 19% สามารถพบภาวะนี้ได้ทุกเพศและทุกกลุ่มอายุ แต่ในคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปีพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น และพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

          อาการที่ควรเฝ้าระวังของภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่

1.อาการปวดศีรษะรุนแรง

ร่วมกับอาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้

        – มีอาการหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว 4 วัน

        – กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น

        – อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นเมื่อนอนราบ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมา

2.อาการทางระบบประสาท

เช่น ตาพร่ามัว พูดไม่ชัด ซึมสับสน ชักเกร็ง

3.เจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ

4.ขาบวมผิดปกติ

5.ปวดท้องรุนแรง ไม่มีช่วงที่อาการดีขึ้น

6.มีจุดจ้ำเลือดขนาดเล็กตามร่างกาย

ที่ไม่ใช่บริเวณที่ฉีดวัคซีน ร่วมกับมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น

 

          หากพบว่ามีผลข้างเคียงเหล่านี้หลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

อาการปวดศีรษะรุนแรง แม้กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น อาจเป็นอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ควรพบแพทย์

วิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีผลข้างเคียงวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

          ผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรง อาการจะดีขึ้นเองในช่วง 2-3 วัน หากรู้สึกไม่สุขสบาย เช่น หากมีอาการปวดบริเวณแขนที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไข้ หนาวสั่น สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ลดอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เนื่องจากยามีผลข้างเคียงทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติ หากรู้สึกว่ามีอาการแพ้รุนแรง หรือมีอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที

Credit : youtube.com/watch?v=DsFe42nEFmw

Youtube : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

เตรียมตัวอย่างไร? เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงของแอสตร้าเซนนิก้าให้น้อยที่สุด

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  2. รับประทานอาหารก่อนมาฉีดวัคซีน ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืองดอาหาร และสามารถทานชา กาแฟได้ตามปกติ
  3. ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้วในคนสุขภาพดี หากคนที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคไต หรือโรคหัวใจที่ต้องจำกัดน้ำ ควรดื่มน้ำอย่างจำกัดตามที่แพทย์แนะนำ
  4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการฉีดวัคซีน
  5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก 1-2 วันก่อนและหลังฉีดวัคซีน
  6. ผู้ที่กินยาคุมกำเนิด ไม่จำเป็นต้องหยุดยา เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าการกินยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  7. ไม่แนะนำให้กินยาแก้ปวด หรือยาแก้แพ้ก่อนรับวัคซีน เนื่องจากการกินยาโดยที่ไม่มีความจำเป็น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงของยา หรือการแพ้ยาโดยที่อาจทำให้สับสนว่าแพ้วัคซีนหรือไม่ ส่วนการกินยาแก้แพ้ก่อนอาจทำให้บดบังอาการแพ้ที่แท้จริงของวัคซีน ทำให้การรักษาล่าช้าลงได้
  8. หากท่านมีโรคประจำตัวเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคภูมิแพ้ สามารถรับประทานยาได้ตามปกติก่อนมารับวัคซีน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องได้รับยากดภูมิบางชนิด หรือผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวท่านก่อนรับวัคซีน หรือลองศึกษาเพิ่มเติมได้จาก แนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ใหญ่และผู้ป่วยอายุรกรรม
  9. หากท่านมีอาการป่วย เช่น มีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ ก่อนฉีดวัคซีน ควรเลื่อนนัดเพื่อความปลอดภัย และพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
  10. ทำจิตใจให้สงบ ลดความกังวล การฉีดวัคซีนนี้มีความปลอดภัยสูง มีเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลเตรียมพร้อมช่วยเหลือตลอดหากท่านมีอาการข้างเคียงจากวัคซีน

บุคคลใดที่ควรฉีดและไม่ควรฉีดแอสตร้าเซนเนก้า

ประชาชนทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ควรเลือกชนิดวัคซีนให้มีความเหมาะสมกับผู้ที่ได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ข้อแนะนำสำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีดังนี้

          เด็ก ยังไม่ควรได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยที่ใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ดังนั้นการให้วัคซีนในเด็กควรเลือกเป็นวัคซีนยี่ห้ออื่น เช่น  Comirnaty (Pfizer/BioNtech) ที่มีงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี

          ผู้ใหญ่ สามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ แต่ในหลายประเทศแนะนำให้ฉีดในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว แต่เมื่อชั่งน้ำหนักผลดี/ผลเสียแล้ว การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประโยชน์มากกว่าโทษ จึงยังแนะนำให้ฉีดต่อไป

          ผู้สูงอายุ ควรฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างยิ่ง เนื่องจากได้ประโยชน์มาก และมีความปลอดภัย

          สตรีตั้งครรภ์/ให้นมบุตร ในสตรีที่ให้นมบุตร สามารถรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ มีความปลอดภัย ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องหยุดให้นมบุตรทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีน นอกจากนี้งานวิจัยยังบอกว่าน้ำนมของแม่ยังมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ส่งผ่านถึงลูกได้อีกด้วย ส่วนถ้าถามว่าวัคซีนโควิด คนท้องฉีดได้ไหม คำตอบนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษารองรับเรื่องความปลอดภัยในคนท้อง คำแนะนำในขณะนี้คือ ถ้ามีความจำเป็นต้องฉีดเพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้

          ผู้ที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่กินยากดภูมิ สามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น ทำให้ปลอดภัย ถึงแม้ว่ายังไม่มีการศึกษาเรื่องการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่การฉีดมีประโยชน์กว่าการไม่ฉีดอย่างแน่นอน

          ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 และหายแล้ว แม้ว่าร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นควรได้รับวัคซีนโควิดอีก โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3 เดือน และไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม เพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากอย่างเพียงพอ

ฉีดวัคซีนโควิด สูงอายุ คนแก่

ในผู้สูงอายุควรได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างยิ่ง เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า

  1. ผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าอย่างรุนแรงในเข็มที่ 1
  2. ผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรงต่อ polysorbate 80 ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า
  3. ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำในวัคซีนเข็มที่ 1

สรุป ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างไร ให้มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

          วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การอนามัยโลก จึงเชื่อมั่นได้ หากเรามีการเตรียมตัวที่ดี สังเกตอาการเมื่อมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ดูแลตนเองได้ถ้าเป็นผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรง และรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อมีการแพ้ชนิดรุนแรงหรือมีอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ก็จะทำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างราบรื่น ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วขึ้น และทุกคนก็จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในที่สุด

บทความอ้างอิง

  1. https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/
  2. https://www.astrazeneca.com/media-centre/articles/2021/ema-reaffirm-that-the-overall-benefits-of-az-covid-19-vaccine-continues-to-outweigh-risks.html
  3. https://www.azcovid-19.com/asia/th/th/consumer.html
  4. Health AGD of. About the AstraZeneca COVID-19 vaccine [Internet]. Australian Government Department of Health. Australian Government Department of Health; 2021 [cited 2021 Jun 13]. Available from: https://www.health.gov.au/initiatives-and-programs/covid-19-vaccines/learn-about-covid-19-vaccines/about-the-astrazeneca-covid-19-vaccine
  5. Information for Healthcare Professionals on COVID-19 Vaccine AstraZeneca [Internet]. GOV.UK. [cited 2021 Jun 13]. Available from: https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-covid-19-vaccine-astrazeneca/information-for-healthcare-professionals-on-covid-19-vaccine-astrazeneca
  6. http://www.rcpt.org/index.php/announce/691-truthaboutcovid-19.html
  7. Pritchard E, Matthews PC, Stoesser N, Eyre DW, Gethings O, Vihta K-D, et al. Impact of vaccination on new SARS-CoV-2 infections in the United Kingdom. Nat Med. 2021 Jun 9;1–9.
  8. https://www.webmd.com/vaccines/covid-19-vaccine/news/20210127/covid-19-vaccine-how-best-to-prepare