ไทรอยด์เป็นพิษ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ถือเป็นภาวะที่อันตรายต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไปจนถึงทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานล้มเหลว การวินิจฉัยเบื้องต้นมักดูจากอาการแสดงของโรคที่เข้าได้เป็นหลัก การเจาะเลือดตรวจหาระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ สำหรับการรักษา คือ การมุ่งแก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดโรค หากเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ก็จะมีวิธีการรักษาหลายวิธีตามความเหมาะสม

เป็น ไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย อยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ รูปร่างคล้ายผีเสื้อ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ และหลั่งเข้าสู่ร่างกายเพื่อไปใช้งานต่างๆ 

            ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งในร่างกาย รูปร่างคล้ายผีเสื้อ อยู่บริเวณด้านหน้าส่วนล่างของลำคอเรา

            หน้าที่สำคัญของต่อมไทรอยด์ คือ การผลิตฮอร์โมนไทรอยด์และปล่อยผ่านหลอดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ฮอร์โมนไทรอยด์มีประโยชน์สำคัญต่อร่างกายหลายอย่าง ได้แก่ ช่วยควบคุมกระบวนการเผาผลาญพลังงานของเซลล์ รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงทำให้การทำหน้าที่ของระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นไปอย่างปกติ

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อาการเป็นอย่างไร

          ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หมายถึง การที่ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากผิดปกติ ทำให้ฮอร์โมนที่มากเกิดเหล่านี้ไปกระตุ้นการทำงาน/การเผาผลาญพลังงานของส่วนต่างๆ ในร่างกายมากเกิดไป และทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา

          อาการไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ ใจสั่น มือสั่น, กินจุ น้ำหนักลด, ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย, หงุดหงิดง่าย, นอนไม่หลับ, เหนื่อยง่าย, ประจำเดือนมาผิดปกติ, คอโต, ตาโปน, ผมแตกปลาย เป็นต้น

ไทรอยด์ เป็น พิษ อ้วน

นอนไม่หลับ เป็นหนึ่งในอาการแสดงของภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่สามารถพบได้

สาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษ

            หากพิจารณาถึงสาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษ ที่พบบ่อยๆ ได้แก่

  1. โรคคอพอกแบบโตทั่วๆ (Graves’ disease) เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ส่วนใหญ่เกิดในเพศหญิง เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานต่อตนเอง ทำให้เกิดลักษณะคล้ายมีสารไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานมากขึ้น เกิดการผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ ต่อมไทรอยด์โตมากขึ้น ตาโปน หากมีอาการมากๆ อาจเกิดปัญหาในการมองเห็น หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
  2. คอพอกแบบเป็นพิษ (Toxic nodular goitre) เป็นเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ชนิดไม่ร้ายแรง โดยเนื้องอกมีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นเมื่อเทียบกับเนื้อไทรอยด์บริเวณอื่นที่ปกติ ผู้ที่มีภาวะนี้มักคลำได้ตุ่มเนื้อที่ลำคอ อาจคลำได้เพียงตุ่มเดียวหรือหลายตุ่ม
  3. โรคไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) เป็นการอักเสบของต่อมไทรอยด์ที่ส่งผลให้มีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากผิดปกติในช่วงที่มีการอักเสบ ภาวะความเป็นพิษของไทรอยด์เกิดขึ้นชั่วคราว หายได้เองเมื่อการอักเสบดีขึ้นและมักเกิดภาวะไทรอยด์ต่ำตามมา โดยส่วนมากหลังจากหายแล้วต่อมไทรอยด์มักจะกลับมาทำงานตามปกติ

            ลักษณะอาการของไทรอยด์อักเสบ ผู้มีอาการมักมีอาการเจ็บที่บริเวณคอ คอบวม อาจมีไข้หวัดเป็นอาการนำก่อนมีอาการอักเสบเกิดขึ้น

  1. การได้รับฮอร์โมนจากภายนอกร่างกาย เช่น รับประทานยาเสริมไทรอยด์มากเกินไป หรือได้รับอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น
คอพอก เป็น พิษ

ตาโปน หรือภาวะที่ลูกตายื่นออกมามากผิดปกติ เปลือกตายกสูง เป็นหนึ่งในลักษณะที่พบได้ของโรคไทรอยด์เป็นพิษ และอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการมองเห็น หรือการหลับตา

การวินิจฉัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

            การวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษโดยทั่วไปแพทย์จะอาศัยจากประวัติ อาการความผิดปกติ การตรวจร่างกาย และการตรวจหาระดับของไทรอยด์ในกระแสเลือดเป็นการช่วยยืนยันการวินิจฉัย

            การตรวจด้วยรังสี เช่น ไทรอยด์สแกน มีส่วนช่วยในการแยกภาวะคอพอกเป็นพิษ ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ หรือตรวจคัดกรองก้อนที่อาจมีแนวโน้มเป็นเนื้อร้าย หรืออาจมีการทำอัลตร้าซาวด์บริเวณลำคอเพิ่มเติม

ไทรอยด์ เป็น พิษ อันตราย ไหม

แนวทางการวินิจฉัยโรคไทรอยด์อาศัยจากอาการและการตรวจร่างกาย โดยอาจมีคอโต หรือไม่โตก็ได้

การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

          ไทรอยด์เป็นพิษ รักษาหายไหม เป็นคำถามที่หลายๆ คนคงสงสัย ทั้งนี้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มีโอกาสหายขาดได้ โดยการรักษาไทรอยด์เป็นพิษหลักๆ คือ การมุ่งรักษาแก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดโรค สำหรับในกรณีของคอพอกเป็นพิษนั้น ไม่มีการรักษาชนิดใดที่ดีที่สุด การรักษาขึ้นกับความเหมาะสมและข้อห้ามของแต่ละวิธีในแต่ละบุคคล วิธีการรักษาหลักๆ มี 3 วิธี ดังนี้

  1. การรักษาด้วยการรับประทานยาต้านไทรอยด์ ได้แก่ Propylthiouracil (PTU) หรือ Methimazole (Tapazole ®) เพื่อช่วยยับยั้งการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ โดยทั่วไประยะเวลาในการรักษาประมาณ 12-18 เดือน นอกจากนี้ยังมียาที่ช่วยบรรเทาอาการจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เช่น ยาลดใจสั่น ที่อาจมีการรับประทานเสริมได้
  2. การรักษาด้วยการกลืนแร่รังสีไอโอดีน (I-131) เป็นการใช้รังสีช่วยในการทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์อย่างเฉพาะเจาะจง โดยผลข้างเคียงหลังการกลืนแร่รักษาที่สำคัญและพบได้เป็นส่วนมาก คือ ภาวะไทรอยด์ต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องรับประทานยาไทรอยด์เสริมทดแทนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีการรับประทานยาไทรอยด์เสริมมีประสิทธิภาพดีในการควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในกระแสเลือดให้คงที่ได้ดีกว่ากว่า และไม่มีผลข้างเคียงจากการรับประทานยา หากใช้ในระดับที่เหมาะสม
  3. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ทำให้หายจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกจากร่างกาย อาจพิจารณาในกรณีที่ต่อมไทรอยด์โตมากๆ ไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง นอกจากนี้อาจพิจารณาผ่าตัดในกรณีที่รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล หรือ มีข้อห้ามการทานยาหรือกลืนแร่รังสี

การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยทั่วไปจะเริ่มด้วยการรับประทานยาต้านไทรอยด์ แต่หากไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงอื่นๆ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

สรุป ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

            ต่อมไทรอยด์ คือ ต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งในร่างกาย ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ ช่วยในการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตามหากมีความผิดปกติที่ส่งผลให้มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินจำเป็น จะส่งผลให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

            อาการของไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ ใจสั่น มือสั่น กินจุ น้ำหนักลด ขี้ร้อน เป็นต้น การรักษาเบื้องต้น คือ การรับประทานยาต้านไทรอยด์ หากไม่ได้ผล อาการรุนแรง หรือมีข้อห้าม ก็อาจใช้การรักษาด้วยการกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

ไทรอยด์ ผอม

โรคไทรอยด์เป็นพิษ มีความอันตรายต่อร่างกายมากหากปล่อยทิ้งไว้ หากมีความผิดปกติที่สงสัยภาวะนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง