ปวดหัว เป็นอาการความรู้สึกไม่สบายที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะ ท้ายทอย หรือใบหน้า สามารถเจอได้ในทุกเพศทุกวัย และถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด แทบทุกคนต้องเคยมีอาการดังกล่างนี้ ลักษณะของอาการปวดหัวมีหลากหลายแบบ หลายตำแหน่ง ก่อให้เกิดความรำคาญ รบกวนการใช้ชีวิต และความกังวลใจต่อใครหลายๆ คนที่อาจสงสัยว่ามีความอันตรายมากน้อยเพียงใด เมื่อไรที่ควรต้องไปโรงพยาบาล

            แม้ปวดหัวจะเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่โดยมากของผู้มีอาการมักไม่ได้มีอันตรายรุนแรงต่อชีวิต มีเพียงส่วนน้อยที่พึงควรระวัง และรีบไปโรงพยาบาล ลองมาทำความรู้จักสาเหตุของอาการปวดหัวให้มากขึ้นกัน

ปวดหัว ภาษาอังกฤษ

อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่รบกวนคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้มีอาการ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย 

สารบัญเนื้อหา

ประเภทของอาการปวดหัว

            อาการปวดหัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยหลักๆ แล้ว อาจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ปวดหัวชนิดปฐมภูมิ และปวดหัวชนิดทุติยภูมิ

ปวดหัวปฐมภูมิ (Primary headaches)

            ปวดหัวแบบปฐมภูมิ (Primary headaches) เป็นอาการปวดหัวที่ไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพอันตรายรุนแรง มีสาเหตุของอาการที่ไม่แน่ชัด ปวดหัวชนิดนี้ถือเป็นอาการที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน ตัวอย่างของอาการปวดหัวประเภทนี้ ได้แก่ ปวดหัวจากความเครียด (Tension headache), ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache), ปวดหัวไมเกรน (Migraine)

            ปวดหัวจากความเครียดพบได้บ่อยในคนวัยทำงาน มักปวดบีบๆ เหมือนมีอะไรมารัดรอบศีรษะ อาการมักจะดีขึ้นหลังตื่นนอน และแย่ลงช่วงบ่ายๆ หรือเวลาทำงาน

            ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ พบได้น้อยมาก อาการปวดค่อนข้างรุนแรง มักปวดหัวข้างเดียว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล น้ำมูกไหลข้างเดียวกับที่เกิดอาการปวดหัว

            ปวดหัวไมเกรน มักปวดหัวข้างเดียวแบบตุ๊บๆ อาจมีสัญญาณเตือนบางอย่างก่อนมีอาการ เช่น เห็นแสงวูบวาบ หรือชาบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายก่อนมีอาการปวดหัว

ปวดหัวทุติยภูมิ (Secondary headache)

            ปวดหัวแบบทุติยภูมิ (Secondary headache) เป็นอาการปวดหัวที่มีสาเหตุชัดเจนอันเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะบริเวณศีรษะ ลำคอ หรือใบหน้า อาการปวดหัวชนิดนี้จะไม่ดีขึ้นหาสาเหตุนั้นๆ ไม่ได้รับการแก้ไข มักมีอันตรายรุนแรงต่อร่างกาย และควรต้องได้รับการรักษาแก้ไขสาเหตุอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของการปวดหัวชนิดนี้ ได้แก่ ปวดหัวจากหลอดเลือดในสมองแตก ศีรษะได้รับการกระทบกระแทกรุนแรง มีความดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น การติดเชื้อในสมอง ก้อนเนื้องอกในสมอง หรือแม้กระทั่งการติดเชื้อของโพรงไซนัสบริเวณใบหน้า

ปวด หัว บ่อย

ปวดศีรษะชนิดปฐมภูมิเป็นชนิดของอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มักไม่อันตราย และหายได้เอง  

ตำแหน่งของอาการปวดหัว ช่วยบ่งบอกอะไรบ้าง

            อาการปวดหัวสามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยแต่ละตำแหน่งอาจช่วยบอกถึงสาเหตุของการเกิดอาการได้ ได้แก่

            ปวดหัวข้างขวา หรือปวดหัวข้างซ้ายข้างเดียว อาจเกิดจากปวดหัวไมเกรน ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ ปวดหัวจากการอักเสบของหลอดเลือดแดง หรือปวดหัวจากเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ

            ปวดหัวท้ายทอย อาจบ่งบอกขึ้นการปวดศีรษะจากความเครียด อาการปวดจากกล้ามเนื้อบ่า/กล้ามเนื้อคออักเสบ ปวดจากปลายเส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น

            ปวดหัวหน้าผาก ปวดขมับ 2 ข้าง บีบๆ อาจเกิดจากการปวดหัวจากความเครียด (Tension headache) หรือเกิดจากไมเกรนก็ได้

ปวด หัว ตรง หน้าผาก

ลักษณะของการปวดศีรษะบีบๆ รอบศีรษะ มักเกิดจากการปวดศีรษะจากความเครียด  

อาการปวดหัวแบบไหนอันตราย

            แม้ว่าอาการปวดหัวส่วนใหญ่มักไม่ได้เป็นอันตราย และสามารถหายได้เอง แต่ก็มีปวดหัวบางประเภทที่หากเกิดขึ้นแล้วควรระวัง และไปโรงพยาบาล โดยการการปวดหัวที่ควรต้องไปโรงพยาบาล ได้แก่

            มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินเซ ชาร่างกาย พูดลำบาก หน้าเบี้ยวปากเบี้ยว ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง อาการชัก มีการมองเห็นที่ผิดปกติไป

  • อาการปวดศีรษะร่วมกับอาการคอแข็ง ไข้สูง
  • อาการปวดหัวมากขึ้นเวลากลางคืน
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนพุ่งรุนแรง
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังศีรษะได้รับการกระทบกระแทก
  • อาการปวดหัวมากที่สุดในชีวิต แบบไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
  • อาการปวดหัวในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็ง หรือทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด

            นอกจากอาการต่างๆ ข้างต้น หากมีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ หรือทานยาแก้ปวดต่อเนื่องหลายวันแล้วไม่บรรเทา ก็ควรไปโรงพยาบาล เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ปวด หัว จะ อ้วก

อาการปวดศีรษะ หากเกิดขึ้นร่วมกับความผิดทางระบบประสาทอื่น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ 

อาการปวดหัวป้องกันรักษาได้อย่างไร

            อาการปวดหัว การรักษาโดยทั่วไปคือการแก้ไขที่สาเหตุของอาการ อย่างไรก็ดี ส่วนมากมักเป็นปวดหัวชนิดปฐมภูมิซึ่งไม่มีสาเหตุการปวดที่แน่ชัด ทั้งนี้ เชื่อว่าอาการปวดหัวชนิดมักเกิดจากการได้รับปัจจัยกระตุ้นบางอย่าง เช่น ความเครียด ความเจ็บปวดทางกายบางอย่าง แสงสว่าง กลิ่น หรือเสียง เป็นต้น การมองหาและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าวจะช่วยป้องกัน และบรรเทาอาการปวดหัวได้ ตัวอย่างเช่น เวลาปวดหัวจากความเครียด หรือกังวลกับบางสิ่งแล้วทำให้เกิดอาการปวดศีรษะก็ต้องหาวิธีการจัดการกับความเครียดเหล่านั้น อาจเป็นการฝึกหายใจ ฟังเพลง หรือการนวดผ่อนคลายบริเวณรอบๆ ศีรษะ เพื่อผ่อนคลายอาการ

            สำหรับยาแก้ปวดสามารถใช้ได้ดีในระยะปวดเฉียบพลัน แต่ไม่ควรใช้ในระยะเวลาที่นานเกินไป เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา และอาจนำไปสู่ภาวะการปวดหัวเรื้อรังได้

ปวด ศีรษะ จาก ความเครียด

การทำฝึกสมาธิ การผ่อนคลายอารมณ์ มีส่วนช่วยป้องกันและบรรเทาอาการปวดศีรษะชนิดปฐมภูมิได้ 

สรุปอาการปวดหัว

            อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้บ่อย หลายครั้งมักเป็นการปวดหัวชนิดปฐมภูมิ ซึ่งไม่ได้มีอันตรายรุนแรง และสามารถหายได้เอง การรักษาที่ดีคือ การมองหา และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการ เพื่อป้องกันการเกิด การรับประทานยาแก้ปวดก็สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ในระยะเฉียบพลัน แต่หากรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย ก็แนะนำให้ไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ต่อไป

ปวดหัวจี๊ด ๆ

การเข้าใจ และรู้ถึงสิ่งกระตุ้นอาการปวดศีรษะ ช่วยให้ตนเอง และคนที่รัก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้