อาการไม่สบายท้อง ส่วนบนหรือดิสเปปเซีย (dyspepsia) เป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ หลายๆ คนอาจใช้คำว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ การปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ อืดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาการต่างๆ เหล่านี้ล้วนรบกวนคุณภาพการใช้ชีวิตของเรา และหากปล่อยไว้นานโดยไม่แก้ไขป้องกันสาเหตุ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น กระเพาะอาหารทะลุ หรือมะเร็งในกระเพาะอาหาร

          การสืบค้นหาสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบมีหลายวิธี ทั้งนี้อาจพิจารณาเลือกตามข้อบ่งชี้ความจำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด อย่างไรก็ดี การรู้และเข้าใจสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหารนั้น จะช่วยให้เราปฏิบัติตัว และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น อันจะรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยตามได้

สารบัญเนื้อหา

โรคกระเพาะอาหาร คืออะไร

          สำหรับโรคกระเพาะอาหาร เชื่อว่าทุกคนคงเคยมีปัญหาหรืออาการจากโรคกระเพาะอาหาร หรือภาษาอังกฤษอาจเรียกว่าดิสเปปเซีย (dyspepsia) ที่ใช้สำหรับเรียกอาการไม่สบายท้องบริเวณตรงกลางส่วนบนหรือลิ้นปี่ ซึ่งหากคุณมีอาการดังกล่าวก็อาจจะสันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุจากความผิดปกติของกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น อาการดังกล่าวถือเป็นอาการความผิดปกติที่พบได้บ่อยในโรคของระบบทางเดินอาหาร ในคนไทยพบความชุกของอาการนี้ถึง 66% อย่างไรก็ตามกว่า 60-90% ไม่มีความผิดปกติจากการส่องตรวจกระเพาะอาหาร

          สำหรับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ Gastritis เป็นอีกหนึ่งคำที่มักใช้เรียกอาการหรือความผิดปกติดังกล่าวแทนกัน อย่างไรก็ดีโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ Gastritis หากใช้ให้ถูกนั้น จะใช้สำหรับบ่งบอกถึงการอักเสบที่บริเวณผิวของเยื่อบุกระเพาะอาหารที่พบจากการส่องกล้องเก็บตัวอย่างเซลล์ของเยื่อบุกระเพาะอาหารแล้วพบการอักเสบของเซลล์เหล่านั้น

โรคกระเพาะ ภาษาอังกฤษ

โรคกระเพาะอาหาร มักทำให้เกิดอาการปวดไม่สบายท้องบริเวณลิ้นปี่

อาการของโรคกระเพาะอาหาร

          ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอาจมาได้หลายอาการ ได้แก่

  1. อาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือตรงกลางใต้กระดูกทรวงอก
  2. อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ หรือกลางอก
  3. อืดแน่นท้อง ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อยหลังมื้ออาหาร
  4. อิ่มเร็วกว่าปกติ รับประทานได้น้อยลงกว่าเดิม เบื่ออาหาร
  5. เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ อาเจียน หรือจุกเจ็บบริเวณลำคอ
โรคกระเพาะอาหาร อาการ

โรคกระเพาะอาหาร มักทำให้เกิดอาการปวดไม่สบายท้องบริเวณลิ้นปี่

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

          สาเหตุของโรคกระเพาะ เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  1. การติดเชื้อ โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori; H. Pylori) ที่จะไปสะสมและทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ หากเป็นมากๆ จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

          การติดเชื้อ H. Pylori มักสัมพันธ์กับการอักเสบของกระเพาะอาหารชนิดบี ที่มีการอักเสบบริเวณใกล้ๆ กับส่วนปลายของกระเพาะอาหาร (antrum) ก่อนจะขยายการอักเสบไปจนทั่วผิวกระเพาะ (pangastritis) อาจใช้เวลา 15-20 ปี ลักษณะการอักเสบนี้จะพบมากขึ้นตามอายุ เชื้อชนิดนี้คนเรามักได้รับจากการเจือปนในอาหารที่รับประทานตั้งแต่อายุน้อยๆ และเชื้อจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น อาจใช้เวลานานหลายปีจนกระทั่งเกิดอาการ เชื้อ H. Pylori ยังสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารประมาณ 3-6 เท่าอีกด้วย

          เชื้อโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้ เช่น เชื้อแบคทีเรีย (Enterococcus, Treponema pallidum), เชื้อไวรัส (Cytomegalovirus, Enterovirus, Epstein-Barr virus), เชื้อรา (Mucormycosis, Candidiasis, Actinomyces, Histoplasmosis), พาราไซต์ (Anisakiasis, Cryptosporidium, Strongyloides stercoralis) เป็นต้น

  1. การรับประทานยาแก้อักเสบ (Nonsteroidal anti-inflammatory; NSAIDS) เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ ยาประเภทนี้จะไปยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ลดความต้านทานต่อกรดของชั้นเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร กระตุ้นให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้
  2. จากโรคภูมิต้านทานตนเองบางชนิด เช่น กลุุ่มอาการของโรคลำไส้อักเสบ (Crohn’s disease) โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) เป็นต้น
  3. การรับประทานอาหารบางชนิดที่กระตุ้นการอักเสบของกระเพาะอาหาร เช่น การดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำองุ่น น้ำส้ม น้ำสับปะรด อาหารเหล่านี้จะทำให้ผิวของกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง และอักเสบตามมาได้
  4. ความเครียด และปัจจัยทางด้านจิตใจ มีผลต่อระบบฮอร์โมนภายในร่างกายซึ่งจะส่งผลให้ลดการไหลเวียนเลือดไปยังเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระที่จะทำลายเยื่อบุ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร
  5. การสูบบุหรี่ มีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยสารพิษจากในตัวบุหรี่เป็นสาเหตุให้เซลล์ผิวเยื่อบุกระเพาะอาหารตาย ยับยั้งการซ่อมแซมและสร้างเซลล์ใหม่ทดแทน ลดการไหลเวียนเลือดไปที่เยื่อบุกระเพาะ และรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่เยี่อบุผิวกระเพาะอาหาร ไม่เพียงเท่านั้นการสูบบุหรี่ยังมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งในทางเดินอาหารอีกด้วย
โรคกระเพาะ เกิดจาก

ความเครียด กินข้าวไม่ตรงเวลา เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

แนวทางในการค้นหาสาเหตุ

          การวินิจฉัยสำหรับผู้ที่มีอาการปวดแสบ หรือไม่สบายท้องนั้น โดยทั่วไปหากไม่มีสัญญาณอันตรายแล้วนั้นมักจะไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมใดๆ เนื่องจากกว่า 60-90% ของผู้มีอาการเหล่านี้มักไม่พบความผิดปกติจากการส่องดูกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ดีหากจะกล่าวว่าอาการนั้นเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) จะวินิจฉัยจากการตรวจส่องกล้องเก็บชิ้นเนื้อ และพบลักษณะการอักเสบของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร

          การตรวจประเมินในผู้ที่มีอาการไม่สบายท้องนั้น ได้แก่

 

การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophagogastroduodenoscopy: EGD)

แนะนำให้ตรวจสำหรับผู้ที่มีข้อบ่งชี้ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

 

   1.อายุที่เริ่มมีอาการตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมีโอกาสพบมากขึ้น โดยพบมากกว่า 10 ใน 100,000 คน (>0.01%)

   2.มีสัญญาณอันตราย (Alarm features) เช่น

  • มีลักษณะที่บ่งบอกถึงภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น อาเจียนเป็นเลือด, ถ่ายดำเป็นยางมะตอย, ถ่ายเป็นสีดำแดง, ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กโดยไม่มีสาเหตุอื่น
  • ทานแล้วอิ่มเร็วกว่าปกติ
  • น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ได้ตั้งใจ มากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักปกติ
  • อาเจียนต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ มากกว่า 10 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือหลังมื้ออาหารทุกมื้อ
  • มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งในทางเดินอาหารส่วนต้น

   3.อาการไม่บรรเทาหลังการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยยาลดกรดกลุ่ม Proton pump Inhibitors (PPIs)

 

          อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านความคุ้มค่าของต้นทุน แนวทางการรักษาในปี 2560 ของ American College of Gastroenterology (ACG) และ the Canadian Association of Gastroenterology (CAG) ไม่ได้แนะนำให้ส่องกล้องเพื่อตรวจแยกภาวะโรคมะเร็งในผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ที่มีอาการปวดท้องลิ้นปี่ ทั้งนี้ในประเทศไทยเองอาจมีการพิจารณาเป็นรายๆ ไป

 

Rapid urease test และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อกระเพาะอาหารไปตรวจหาเชื้อ H. pylori

          จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ต้องส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน โดยการติดเชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นหากตรวจพบจะทำให้สามารถทราบสาเหตุ และรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น แม้ว่าอาจยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับลองการให้ยารักษา

          การเพาะเชื้อเพื่อตรวจหาเชื้อนั้นยังไม่เป็นที่แนะนำทั่วไป เนื่องจากค่อนข้างยุ่งยาก และไม่คุ้มค่า แต่มักทำในกรณีที่สงสัยเชื้อดื้อยา

          สำหรับผู้ที่ไม่มีสัญญาณอันตราย อาจลองใช้ยาลดกรดบรรเทาอาการเบื้องต้นประมาณ 4-8 สัปดาห์ หรือรับประทานยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (Prokinetic agent)

          การตรวจด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องท้องทั่วไปเบื้องต้นไม่สามารถวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารได้ แต่อาจมีประโยชน์ในกรณีที่สงสัยภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น กระเพาะอาหารรั่ว

โรคกระเพาะ ท้องเสีย

การส่องกล้องดูเยื่อบุกระเพาะอาหาร และเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจในบริเวณที่สงสัย ช่วยทำให้ทราบสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหารได้

ภาวะแทรกซ้อน

          ภาวะแทรกซ้อนจากโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะโลหิตจาง การขาดสารน้ำจากการอาเจียน นอกจากนี้ การติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori ที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบยังสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น low-grade B cell lymphoma, gastric MALT lymphoma

โรคกระเพาะห้ามกินอะไร

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ โดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือดได้

ภาวะอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไม่สบายท้อง

แผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer)

          จะมีอาการปวดท้องโดยมักเป็นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ปวดแสบเวลาท้องว่าง อาจมีกดเจ็บที่ลิ้นปี่ได้บ้าง

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)

          เป็นการไหลย้อนของสารคัดหลั่งหรืออาหารจากกระเพาะขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นลำคอ กลืนลำบาก บางคนอาจมีความรู้สึกเจ็บคอ เสียงแหบ หรือทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้

โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี เช่น Biliary colic

          มักมีอาการปวดรุนแรง อาจปวดร้าวไปหลังหรือไหล่ขวา อาการเป็นๆหายๆ ทำนายการเกิดไม่ได้ แต่มักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงๆ เวลาหายปวดมักหายสนิท

โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

          จะมีอาการปวดบริเวณลิ้นปี่ได้เช่นกัน มักปวดร้าวไปหลัง อาจมีไข้ คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยมักวินิจฉัยร่วมกับการมีประวัติเสี่ยงอื่นๆ เช่น การดื่มสุรา หรือประวัตินิ่วในถุงน้ำดี

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Acute coronary syndrome)

          จะมีอาการปวดแน่นเหมือนมีอะไรมาทับ สัมพันธ์กับการออกแรง เป็นต้น

โรคกระเพาะ กี่วันหาย

อาการไม่สบายท้องส่วนบนนอกจากโรคกระเพาะอาหารแล้วยังเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคในถุงน้ำดี มักปวดรุนแรงร้าวไปหลังหรือไหล่ข้างขวา

การป้องกัน และรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

          การดูแลผู้ที่มีเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบมีเป้าหมายสำคัญคือการลดอาการของผู้ป่วย หลายคนอาจค้นหาคำตอบใน pantip ว่าโรคกระเพาะห้ามกินอะไร หรือกี่วันหาย รักษาอย่างไร ทั้งนี้คำตอบของการรักษาอาจแบ่งเป็นการรักษาแบบแบบไม่ใช้ยา และการรักษาด้วยยา

 

การรักษาแบบไม่ใช้ยา

เป็นการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ ได้แก่

  1. อาหาร แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของหมักดอง น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และไม่รับประทานมากจนอิ่มเกินไป
  2. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยงดเว้นการสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. การล้างมือบ่อยๆ เพื่อสุขอนามัยที่ดี และป้องกันการติดเชื้อที่เจือปนในอาหาร โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย H.pylori
  4. งดการรับประทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs บ่อยๆ โดยไม่จำเป็น ควรรู้จักการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง หรือทานยาพาราเซตามอลแทนในกรณีที่ปวดไม่มาก

 

การรักษาด้วยยา

          ใช้เมื่อสงสัยว่าอาจมีแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอาการไม่สบายท้องแบบมีพยาธิสภาพ ยาที่สามารถใช้ได้ เช่น การยับยั้งการหลั่งกรดจาก parietal cell หรือยับยั้งที่สารกระตุ้นการหลั่งกรด เช่น histamine, gastrin, การเคลือบผิวของเยื่อบุกระเพาะอาหารให้แข็งแรง เพื่อปกป้องผิวเยื่อบุกระเพาะอาหารจากภาวะกรด, ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะ เพื่อลดระยะเวลาที่กรดอยู่ในกระเพาะ และลดการตีขึ้นของกรดน้ำดีที่อาจไปทำอันตรายต่อกระเพาะอาหาร เป็นต้น

ยาที่ช่วยบรรเทาอาการโรคกระเพาะอักเสบ

ยาลดความเป็นกรดในกระเพาะ (Antacids)

          ยาประเภทนี้มีคุณสมบัติเป็นฤทธิ์ด่างอ่อนๆ เมื่อรับประทานยาจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร มีผลให้ความเป็นกรดลดลง ลดการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะ เมื่อความเป็นกรดลดลงจะส่งผลยับยั้งการสร้างเปปซินที่มีฤทธิ์เพิ่มความเป็นกรดของกระเพาะอาหารอีกทางหนึ่งด้วย ยาประเภทนี้มักเป็นยาน้ำ ควรเขย่าขวดก่อนรับประทานโดยรับประทานหลังอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง

          ยาลดกรดอาจแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • ยาลดกรดที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3), แคลเซียมไบคาร์บอเนต ช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะได้รวดเร็ว แต่อาจมีผลต่อการรักษาสมดุลกรด-ด่างของเลือดในร่างกายถ้าใช้นานๆ ควรระวังโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไต การรับประทานยาชนิดนี้ยังอาจไปกระตุ้นเซลล์ให้หลั่งกรดมากขึ้นได้เพื่อต่อสู้กับภาวะด่างจากยา นอกจากนี้อาจทำให้ท้องเฟ้อได้เนื่องจากการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ยาลดกรดที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย เช่น Al2O3 มักไม่ค่อยละลายน้ำ ออกฤทธิ์ช้ากว่า แต่มีฤทธิ์อยู่นานกว่าเนื่องจากมีการตกค้างในทางเดินอาหาร อย่างไรก็ดีอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ นอกจากนี้สารอลูมิเนียมในยาจะไปจับกับฟอสเฟตในลำไส้ หากใช้เวลานานๆ อาจขาดแร่ธาตุชนิดนี้และเกิดภาวะกระดูกพรุนตามมาได้

          ยาบางยี่ห้อที่มีขายตามท้องตลาด เช่น Gaviscon ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน แต่จะมีสารประกอบหลายๆ ตัวที่ใช้ในการออกฤทธิ์

ยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2-receptor antagonists)

          เช่น cimetidine, famotidine, และ nizatidine ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์โดยไปปิดกั้นตัวรับฮิสตามีน ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการหลั่งกรดจากเซลล์กระเพาะอาหารได้ ส่วนมากให้รับประทานวันละ 2 ครั้ง เนื่องจากระยะเวลาออกฤทธิ์สั้น 

ยายับยั้งการขับโปรตอน (Proton Pump (H+,K+-ATPase) Inhibitors, PPIs)

          ยับยั้งการปล่อยกรด (H+) จากเซลล์ของกระเพาะเข้าไปในทางเดินอาหาร เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี นิยมสำหรับโรคกระเพาะอาหาร รวมทั้งใช้ร่วมกับการใช้ยาแก้ปวด NSAIDs เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของการเกิดโรคกระเพาะ ตัวอย่างของยาชนิดนี้เช่น Omeprazole (Losec, Miracid), esomeprazole (Nexium), lansoprazole (Prevacid), rabeprazole (Pariet), และ pantoprazole (Controloc) 

          ยาประเภทนี้ค่าครึ่งชีวิตสั้น แต่มีระยะเวลาออกฤทธิ์นาน โดยทั่วไปรับประทานวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอ โดยแนะนำให้รับประทานก่อนมื้ออาหารประมาณครึ่งชั่วโมง และเลี่ยงการรับประทานร่วมกับยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2

ยาออกฤทธิ์ป้องกันและถนอมเยื่อบุทางเดินอาหารอื่นๆ

          เช่น Sucralfate มีลักษณะเหนียวข้น ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร ลดภาวะที่กรดจะไปทำลายเยื่อบุหรือแผลในกระเพาะได้ การรับประทานยาประเภทนี้อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้บ้าง ยาประเภทนี้อาจรบกวนการดูดซึมของยาชนิดอื่นๆ เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยากันชัก ยาขยายหลอดลม เป็นต้น

 Prostaglandins analog (Misoprostol)

เป็นอนุพันธ์ของสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) กระตุ้นให้เซลล์มีการสร้างสารเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารมากขึ้น และยับยั้งการหลั่งของกรดจากเซลล์ในกระเพาะอาหาร สามารถใช้ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะจากการใช้ยา NSAIDs แก้ปวดได้

การให้ยากำจัดเชื้อ H.pylori

          ควรใช้ในกรณีที่ตรวจและสงสัยการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ทั้งนี้ การให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อการป้องกัน หรือกำจัดเชื้อไปก่อนไม่เป็นที่แนะนำเนื่องจากไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจน สูตรยาที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อ H.pylori โดยทั่วไปประกอบด้วยยา 3 ชนิด ได้แก่ ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารร่วมกับยาฆ่าเชื้ออีก 2 ชนิด (Triple therapy) เช่น Clarithromycin และ Amoxicillin ทานต่อเนื่องระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีปัจจุบันเริ่มพบเชื้อดื้อยามากขึ้น ดังนั้นจึงควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะ

          ช่วยลดระยะเวลาที่อาหารอยู่ในกระเพาะที่อาจไปกระตุ้นในกระเพาะหลั่งกรดออกมามากขึ้น เช่น Domperidone, metoclopramide

ยาขับลม

          ขับแก๊สในทางเดินอาหาร ช่วยเสริมประสิทธิภาพของยาลดกรด บรรเทาอาการท้องอืด อาการจุกเสียดท้อง เช่น ไซเมททิโคน (Simethicone) ยาเม็ดประเภทนี้แนะนำให้เคี้ยวก่อนกลืน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาให้ดีขึ้น หรือยาธาตุน้ำแดง (Stomachica mixture) ที่เป็นยาน้ำก็ช่วยขับลมได้

โรคกระเพาะ รักษา

โรคกระเพาะอาหารสามารถหายเองได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่หากมีอาการมากอาจรักษาด้วยยาเพื่อปรับสมดุลกรดในกระเพาะอาหาร

บทสรุปของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

          โรคกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิด กระตุ้นให้เกิดอาการขึ้น แม้ในระยะแรกๆ จะไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่หากเป็นเรื้อรัง หรือเกิดพยาธิสภาพอื่นๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการเบี้องต้น หรือหาสาเหตุ เพื่อแก้ไขรักษาต่อไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆ ตามมาได้

โรคกระเพาะ รักษา

การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร เป็นการป้องกันโรคกระเพาะอาหารที่ดีที่สุด