มะเร็งไทรอยด์ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่ของร่างกาย อยู่บริเวณด้านหน้ากึ่งกลางลำคอส่วนล่าง มีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ช่วยในกระบวนการเผาผลาญพลังงานของเซลล์ในระบบต่างๆ ของร่างกาย โรคมะเร็งไทรอยด์นี้หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น มีโอกาสหายได้สูงมาก

มะเร็งไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย อยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ หากเซลล์ในต่อมนี้มีการแบ่งตัวหรือการซ่อมแซมตัวเองผิดปกติ อาจก่อให้เกิดมะเร็งไทรอยด์ได้ 

          โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์พบบ่อยเป็นลำดับ 12 จากผู้ป่วยมะเร็งในสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2565) โดยพบในประชากรประมาณ 14.6 คนต่อ 100,000 คน โดยมากพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ช่วงอายุเฉลี่ยที่พบบ่อย คือ 45-54 ปี พยากรณ์โรคของมะเร็งชนิดนี้ค่อนข้างดี มีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมไทรอยด์น้อย คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.4 ของผู้ป่วยที่มะเร็งต่อมไทรอยด์

ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

          มะเร็งไทรอยด์เกิดจากการความผิดปกติของการแบ่งตัวของเซลล์ไทรอยด์ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้ ได้แก่

  1. ผู้ใหญ่อายุ 25-65 ปี
  2. เพศหญิง ผู้เชียวชาญบางท่านสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจน
  3. ประวัติเคยโดนรังสีบริเวณลำคอ โดยเฉพาะการฉายแสงรักษา
  4. มีประวัติเป็นโรคคอพอก ขาดไอโอดีน
  5. คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งไทรอยด์
  6. โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น MEN2A, MEN2B, FMTC
  7. คนเอเชีย
มะเร็งไทรอยด์ ระยะแรก

สัญญาณโรคมะเร็งไทรอยด์ที่พบได้บ่อย คือ การคลำได้ก้อนที่คอ ลักษณะก้อนจะค่อยๆ โตขึ้น อาจกินเวลานานหลายเดือน

สัญญาณของโรคมะเร็งไทรอยด์

          โรคมะเร็งไทรอยด์ในระยะเริ่มต้นมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทั้งนี้ อาจมีสัญญาณบางอย่างที่พบได้ เช่น

  1. สังเกตพบก้อน หรือคลำได้ก้อนบริเวณลำคอ
  2. กลืนลำบาก/หายใจลำบาก
  3. มีอาการเจ็บขณะกลืน
  4. เสียงพูดเปลี่ยนไป เสียงแหบมากขึ้นผิดปกติ

             อย่างไรก็ดียังมีโรคอื่นๆ มากมายที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ ดังนั้น หากคุณมีอาการดังกล่าว ยังไม่ควรตกใจไปก่อน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องอีกครั้ง

             สำหรับในกรณีที่โรคมีความรุนแรงมากขึ้น หรือมีการกระจายไปยังระบบอื่นๆ ของร่างกาย อาจพบอาการอื่นๆ ได้ตามแต่ละระบบที่มะเร็งแพร่กระจายไป เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลดผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งไทรอยด์

             การตรวจเกี่ยวกับโรคมะเร็งไทรอยด์โดยทั่วไปจะเริ่มต้นโดยอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย การเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย การตรวจอัลตราซาวน์บริเวณลำคอเพื่อดูลักษณะเนื้อต่อมไทรอยด์ และการสแกนดูต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีหลายวิธี ทั้งนี้ หากมีลักษณะความผิดปกติที่สงสัยถึงเนื้อร้าย แพทย์จะพิจารณาเจาะดูดชิ้นเนื้อไปเพื่อตรวจยืนยันรอยโรค หรือบางกรณีหากยังไม่สามารถหาคำตอบได้ชัดเจนหรือมีอาการจากก้อนที่มีขนาดใหญ่ ก็อาจพิจารณาผ่าต่อมไทรอยด์ 1 ข้างที่มีรอยโรคนั้นไปตรวจอย่างละเอียด 

มะเร็งไทรอยด์ ลามไป ต่อมน้ำเหลือง

การตรวจอัลตราซาวน์บริเวณลำคอ เป็นหนึ่งในตัวช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์มีชนิดใดบ้าง มีกี่ระยะ

ชนิดของมะเร็งไทรอยด์มีหลายชนิด แต่โดยทั่วไปแล้วแบ่งได้เป็น

  1. Differentiated thyroid cancers ถือเป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด มะเร็งชนิดนี้ตอบสนองดีต่อการรักษา และมีพยากรณ์โรคที่ดี
  2. Anaplastic thyroid cancer พบได้น้อย แต่มีความรุนแรง มีการแพร่กระจายของตัวโรคค่อนข้างเร็ว มักพบในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี
  3. Medullary thyroid cancer พบได้น้อย เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม และมักมีความผิดปกติของระบบอื่นๆ ในร่างกายร่วมด้วย
  4. ชนิดอื่นๆ พบได้น้อยมาก เช่น thyroid lymphoma, thyroid sarcoma เป็นต้น

             สำหรับโรคมะเร็งไทรอยด์ มีกี่ระยะนั้น โดยทั่วไปแบ่งเป็น 4 ระยะ ขึ้นกับชนิด อายุ และการแพร่กระจายของตัวโรคที่ไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งมักจะทราบหลังการตรวจสแกนไอโอดีนทั่วร่างกายหลังจากการกลืนแร่รักษา ทั้งนี้ เซลล์มะเร็งไทรอยด์สามารถแพร่กระจายไปอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด กระดูก สมอง ตับ เป็นต้น

มะเร็งไทรอยด์ส่วนใหญ่โตช้า แต่หากตรวจพบก็ควรรีบรักษาก่อนโรคลุกลาม เพื่อป้องกันความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจส่งผลเสียตามมา

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์

            การรักษามะเร็งไทรอยด์ขึ้นกับชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วการรักษามักจะเริ่มด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งต่อม และการผ่าตัดในส่วนที่มะเร็งแพร่กระจายไป หากสามารถทำได้

             การกลืนแร่รักษาด้วยสารรังสีไอโอดีนหลังการผ่าตัด เป็นการรักษาโดยใช้สารรังสีเข้าไปทำลายเซลล์ไทรอยด์โดยเฉพาะเจาะจง ใช้สำหรับกำจัดเซลล์ไทรอยด์ที่หลงเหลือหลังการผ่าตัด มองหาและกำจัดเซลล์มะเร็งไทรอยด์ที่แพร่กระจายไปในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย ขนาดของยาที่กลืนจะขึ้นกับผลชิ้นเนื้อ ระยะของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย

             สำหรับการให้ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า และการฉายแสง มักไม่มีความจำเป็นในโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ แต่อาจมีความจำเฉพาะในบางกรณี

             ยาเสริมไทรอยด์ เป็นยาที่ต้องรับประทานตลอดชีวิตภายหลังการรักษา เพื่อเป็นการทดแทนภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์หลังการผ่าตัดและการกลืนแร่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งไทรอยด์ได้อีกด้วย

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์โดยทั่วไปจะเริ่มต้นด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งต่อม

การกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งไทรอยด์

             โรคมะเร็งไทรอยด์ส่วนใหญ่มักจะหายขาดได้ การกลับเป็นซ้ำของโรคเกิดขึ้นได้น้อยเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตามหากมีการกลับเป็นซ้ำของโรคก็มักสามารถเริ่มรักษาได้ใหม่

             อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ตรวจติดตามหลังการรักษาตลอดชีวิต เนื่องจากหากมีรอยโรคแฝงที่หลงเหลืออาจกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ ซึ่งบางครั้งอาจกินเวลานานหลายสิบปี โดยแพทย์จะติดตามดูระดับค่ามะเร็งในเลือด และการตรวจทางรังสีวิทยาอื่นๆ ประกอบการติดตาม

วิธีป้องกันโรคมะเร็งไทรอยด์

             หลายคนคงสงสัยว่ามีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งไทรอยด์หรือไม่ หรือห้ามกินอะไรมั้ย เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร จึงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในการป้องกันโรคนี้ อย่างไรก็ดีหากคุณมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น มีคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งไทรอยด์ (MEN2A, MEN2B, FMTC) ก็ควรขอคำแนะนำจากนักพันธุศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาว่าควรผ่าตัดป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่ที่มีรังสีมากๆ ก็มีส่วนช่วงลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งไทรอยด์ได้

หลังการรักษาผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ควรรับประทานยาเสริมไทรอยด์ตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค

เป็นมะเร็งไทรอยด์ ตั้งครรภ์ได้หรือไม่

             มะเร็งไทรอยด์ จัดเป็นมะเร็งอันดับสองที่ถูกวินิจฉัยในช่วงตั้งครรภ์รองจากมะเร็งเต้านม เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์อาจเป็นตัวกระตุ้นได้

             การรักษามะเร็งไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ขึ้นกับชนิด และความรุนแรงของตัวโรค แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะรอรักษาหลังจากคลอดลูกแล้ว แต่หากมีอาการรุนแรงก็สามารถผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไปก่อนในขณะตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการตรวจการตรวจ หรือการรักษาด้วยสารรังสีในขณะตั้งครรภ์

บทสรุปของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

          มะเร็งไทรอยด์ เป็นความผิดปกติของเนื้อเซลล์ไทรอยด์ มีหลายชนิด ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของโรคชัดเจน อาการนำที่พบได้บ่อยคือ คลำพบก้อนที่คอ การตรวจวินิจฉัยอาศัยจากหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ ประวัติ การตรวจร่างกาย ผลเลือด การตรวจทางรังสี หากมีลักษณะที่สงสัยแพทย์จะพิจารณาเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ สำหรับการรักษาโดยทั่วไป คือ การผ่าตัด การกลืนแร่ และการรับประทานยาเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ตลอดชีวิต โดยการตอบสนองต่อการรักษาในผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกัน มะเร็งชนิดนี้มีโอกาสเกิดซ้ำได้แต่น้อย ดังนั้น หลังการรักษาควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

มะเร็งไทรอยด์ รักษา หายไหม

โรคมะเร็งไทรอยด์มีโอกาสการกลับเป็นซ้ำน้อย แต่เนื่องจากระยะเวลาดำเนินโรคค่อนข้างนาน ดังนั้น จึงควรไปตรวจติดตามนัดหลังรักษาอย่างสม่ำเสมอ