Zinc

 

          Zinc (ซิงค์ หรือสังกะสี) คือ แร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก (Trace minerals) แต่ขาดไม่ได้ แร่ธาตุชนิดนี้มีการสะสมอยู่ภายในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยประมาณ 60% พบในกล้ามเนื้อ และประมาณ 30% พบในกระดูก ส่วนที่เหลือสะสมอยู่ในผิวหนัง เส้นผม อวัยวะต่างๆ รวมถึงของเหลวภายในร่างกาย แร่ธาตุนี้ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เอง ต้องได้รับจากภายนอกเท่านั้น

หน้าที่ของ Zinc

ทำไมเราถึงต้องการ ซิงค์ ?

          Zinc เป็นแร่ธาตุที่ไม่ได้ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่มีบทบาทที่สำคัญในการเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ของร่างกาย ทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ มีประสิทธิภาพ zinc ช่วยอะไรต่อร่างกายอีกมากมาย ได้แก่

  1. เกี่ยวข้องกับการสร้าง และการจัดรูปร่างของโปรตีนในสารพันธุกรรม ให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
  2. เป็นองค์ประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ป้องกันการเสื่อมสลายของเซลล์ต่างๆ เช่น การป้องกันโรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) 
  3. เป็นองค์ประกอบของเอมไซม์ที่สำคัญในร่างกายหลายร้อยชนิด
  4. มีบทบาทสำคัญในขบวนการเมตาบอลิซึม ของโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต
  5. มีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนเพศหญิง ในเพศชายนอกจาก zinc เพิ่มฮอร์โมนเพศชายแล้ว ยังช่วยในการเพิ่มอสุจิให้มีปริมาณมากขึ้น และมีความแข็งแรง
  6. ช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และเด็กวัยเจริญเติบโต
  7. มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้าง การสะสม และการหลั่งของอินซูลิน และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้

  8. ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ลดอาการเจ็บป่วย และทำให้การติดเชื้อหายเร็วขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยาอมซิงค์ (zinc lozenges) ที่พบเห็นได้ทั่วไปสำหรับเบาเทาไข้หวัด
  9. Zinc รักษาสิว โดยการปรับสมดุลของปริมาณไขมันใต้ผิวหนัง และลดการอักเสบของสิว
  10. ช่วยให้บาดแผลที่ผิวหนังสมานตัวเร็วขึ้น และสวยงาม
  11. ลดอัตราการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ
  12. มีส่วนช่วยให้ร่างกายดึงวิตามินเอมาใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น
  13. มีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ปริมาณของ zinc ที่ร่างกายต้องการต่อวัน

          สำหรับปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย อ้างอิงจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2563 แนะนำปริมาณที่ควรได้รับอย่างน้อยต่อวัน (Recommended Dietary Allowance; RDA) ดังนี้

  • ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ได้รับจากน้ำนมมารดา
  • ทารกอายุ 6-11 เดือน ควรได้รับวันละ 2.7 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับวันละ 4.4 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 4-5 ปี ควรได้รับวันละ 5.3 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 6-8 ปี ควรได้รับวันละ 6.3 มิลลิกรัม
  • วัยรุ่นชาย อายุ 9-18 ปี ควรได้รับวันละ 9.5-12.9 มิลลิกรัม
  • วัยรุ่นหญิง อายุ 9-18 ปี ควรได้รับวันละ 9.0-9.8 มิลลิกรัม
  • ผู้ใหญ่เพศชาย อายุตั้งแต่ 19 ปี ถึง 70 ปี ควรได้รับวันละ 9.1-9.7 มิลลิกรัม
  • ผู้ใหญ่เพศหญิง อายุตั้งแต่ 19 ปี ถึง 70 ปี ควรได้รับวันละ 8.6-9.7 มิลลิกรัม
  • ผู้สูงอายุเพศชาย มากกว่า 71 ปี ควรได้รับวันละ 10.3 มิลลิกรัม
  • ผู้สูงอายุเพศหญิง มากกว่า 71 ปี ควรได้รับวันละ 8.6 มิลลิกรัม
  • หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับธาตุสังกะสีเสริมจากปริมาณที่แนะนำต่อวันประมาณ 1.3 มิลลิกรัม เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  • หญิงให้นมบุตร ควรได้รับธาตุสังกะสีเสริมจากปริมาณที่แนะนำต่อวันประมาณ 2.9 มิลลิกรัม เพื่อทดแทนแร่ธาตุสังกะสีที่ร่างกายสูญเสียออกมาทางน้ำนม

สัญญาณเตือนเมื่อร่างกายขาด Zinc

          สัญญาณเตือนที่พบได้หากร่างกายขาดซิงค์ (zinc deficiency) ได้แก่ ผมร่วง ท้องเสียเรื้อรัง ความอยากอาหารลดลง สูญเสียการรับรู้รสชาติและกลิ่น เจ็บตา เจ็บผิวหนัง สิวขึ้น น้ำหนักลด เซื่องซึม แผลหายช้าลง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปริมาณอสุจิมีน้อยและไม่แข็งแรง เป็นต้น

          ในวัยเด็กส่งผลให้การเจริญเติบโตช้าลง ร่างกายแคระแกร็น มีพัฒนาการทางเพศที่ช้ากว่าปกติ และติดเชื้อโรคง่าย

          สำหรับการตรวจวัดระดับซิงค์ ในเลือดสามารถทำได้ แต่ยังไม่มีคำแนะนำให้เจาะตรวจระดับซิงค์ในประชากรทั่วไป ทั้งนี้ ระดับของซิงค์ในกระแสเลือดขึ้นกับช่วงเวลาของวัน อีกทั้งมีปัจจัยที่รบกวนระดับซิงค์ในเลือดอื่นๆ มากมาย เช่น การติดเชื้อ การแตกของเม็ดเลือดแดง เป็นต้น

แหล่งที่มาของ zinc จากธรรมชาติ

          เราสามารถพบซิงค์ในอาหารธรรมชาติได้มากมาย ตัวอย่างของแหล่งอาหารที่มีซิงค์สูง คือ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล เช่น หอยนางรม กุ้ง สำหรับธาตุสังกะสีในพืชที่พบได้ เช่น ผักโขม มะเขือเทศ ถั่วลิสง งา แอปเปิ้ล เป็นต้น

          สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ปริมาณของซิงค์ในอาหารประเภทต่างๆ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแหล่งผลิต เช่น ดิน หรือปุ๋ยที่ใช้ในการปลูกพืชผัก หรือปริมาณซิงค์ในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ด้วย ดังนั้น อาหารประเภทเดียวกัน แต่มาจากคนละแหล่ง ปริมาณซิงค์ก็จะไม่เท่ากันได้

อาหารเสริม zinc เลือกอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด

          แม้ซิงค์จะมีอยู่ทั่วไปในอาหารที่รับประทาน แต่ก็มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ร่างกายเราไม่ได้รับสารอาหารประเภทนี้อย่างเพียงพอได้ เช่น คนที่มีโรคเกี่ยวกับลำไส้ ทำให้การดูดซึมสารอาหารเหล่านี้น้อยลง หรือภาวะที่กินได้น้อยในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ดังนั้น การเลือกกินอาหารเสริม zinc ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้

          โดยทั่วไปอาหารเสริมที่เป็นลักษณะวิตามินรวมส่วนใหญ่มักมีซิงค์เป็นส่วนประกอบ แต่ก็มียา zinc ให้เลือกบริโภคด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมาในรูปแบบของสารประกอบต่างๆ ได้แก่

  • ซิงค์กลูโคเนต (Zinc gluconate) : มีปริมาณซิงค์ 14 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิกรัม
  • ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate) : มีปริมาณซิงค์ 22.5 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิกรัม
  • ซิงค์อะซิเตท (Zinc acetate) : มีปริมาณซิงค์ 30 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิกรัม

          ทั้งนี้ แต่ละรูปแบบไม่ได้มีความแตกต่างในแง่ของการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน แต่พึงระวังในเรื่องปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึม เช่น การกินพร้อมอาหารที่มีสารไฟเตท (Phytate) ที่พบในธัญพืช ถั่ว หรือผักบางชนิด อาจส่งผลให้การดูดซึมของซิงค์ลดลง หรือการกินพร้อมยาบางชนิด เช่น ยาเสริมธาตุเหล็ก ยาแคลเซียม ก็มีผลลดการดูดซึม ดังนั้น หากถามว่า zinc กินตอนไหนดี จะแนะนำให้ทานหลีกเลี่ยงกับยาดังกล่าว โดยอาจเว้นระยะเวลาในการกิน เพื่อให้เราสามารถดูดซึมซิงค์ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ข้อจำกัดสำหรับการเสริม Zinc

          แม้ประโยชน์ของ zinc จะมีมากมาย แต่หากได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดโทษของธาตุสังกะสีได้ ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน, เวียนศีรษะ, ปวดท้อง, ถ่ายเหลว และหาก zinc กินติดต่อกันเกินขนาดที่แนะนำนานๆ อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และมีผลให้ระบบภูมิต้านทานแย่ลงได้

          ปริมาณสูงสุดของธาตุสังกะสีที่รับได้ในแต่ละวันที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย (Tolerable upper intake level) อ้างอิงจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2563 คือ

  • ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 4 มิลลิกรัม
  • ทารกอายุ 6-11 เดือน ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 5 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 7 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 4-8 ปี ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 12 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 9-13 ปี ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 23 มิลลิกรัม
  • วัยรุ่นอายุ 14-18 ปี ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 34 มิลลิกรัม
  • ผู้ใหญ่ตั้งแต่ 19 ปี ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 40 มิลลิกรัม
  • หญิงตั้งครรภ์ ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 40 มิลลิกรัม
  • หญิงให้นมบุตร ปริมาณสูงสุดที่รับได้ต่อวัน คือ 40 มิลลิกรัม

          สำหรับปริมาณ zinc ในอาหารเสริมหรือวิตามินรวมที่มีซิงค์เป็นส่วนประกอบ มักมีปริมาณที่ไม่มากจนเกิดอันตราย อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรอ่านข้อมูลที่ระบุบนฉลากยาทุกครั้งว่าผลิตภัณฑ์ zinc ควรกินวันละเท่าไหร่ มีข้อห้ามอะไรบ้างก่อนการกิน รวมทั้งไม่กินผลิตภัณฑ์บำรุงหลายยี่ห้อเกินไป

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Zinc

          Zinc เป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย หรือเรียกว่า trace mineral โดยมีความสำคัญต่อร่างกายที่ขาดไม่ได้ แล้ว zinc อยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง มีแหล่ง zinc จากพืชหรือไม่ แล้ว zinc กินตอนไหนดีจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด